เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 51
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ไทยได้เสนอต่อที่ประชุมยางโลกซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกคือไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียที่ว่าประเทศไทยมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกยาง 4 แสนไร่ เพื่อหันมาปลูกปาล์มนั้น ส่งผลให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่
โดยแต่ละปีจะมีการนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยประมาณ 830,000 ตัน จากปริมาณการส่งออกทั้งประเทศ 2,700,000 ตัน หรือ 1 ใน 3 เกิดความไม่แน่ใจ พร้อมทั้งเตรียมหาแหล่งรับซื้อที่ใหม่โดยมุ่งไปที่ประเทศเวียดนาม ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเดินทางเข้าพบกับรัฐมนตรีเกษตรจีนที่กำกับดูแลยาง และสมาคมอุตสาหกรรมยางจีนที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาการซื้อวัตถุดิบป้อนโรง งาน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ในการเจรจาดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาผันผวนเพราะมีการเก็งราคา รวมทั้งซื้อขายลมโดยไม่มีการส่งมอบจริง และยังสร้างความมั่นใจว่าปริมาณผลผลิตยางไทยยังมีคุณภาพ มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ เพราะไทยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่แถบภาคอีสานปลูกยางเพิ่มขึ้นอีก 2.5 ล้านไร่ ซึ่งผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดในปี'54 และเมื่อผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด จะไม่มีปัญหาเรื่องราคาอย่างแน่นอน เพราะได้เตรียมแหล่งรับซื้อผลิตผล ไว้ 2 จุด ซึ่งอยู่ ในจังหวัดบุรีรัมย์ และหนองคาย
อย่างไรก็ตาม ยังได้เสนอให้ผู้ที่ลงทุนในสมาคมยางจีน เข้ามาลงทุนทำอุตสาหกรรมฯในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งคาดว่าต่อไปในอนาคตผลิตผลจากฝั่งลาว และเขมร ที่ประเทศเวียดนามเข้าไปลงทุน จะถูกส่งมาแปรรูปทางด้านบริเวณนี้และจะส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่และภายใน ประเทศดีขึ้นอย่างแน่นอน
“การไปในครั้งนี้ยังได้เยี่ยม สนง.ที่ดูมาตรฐานของยางจีนที่ใช้ระบบ CCC รับรองมาตรฐาน เพื่อต่อไปไทยจะได้นำระบบดังกล่าวมาทำระบบมาตรฐานอย่างที่จีนใช้ นำมากำหนดเทียบเคียงร่วมกัน โดยเจ้าหน้าที่ของไทยจะเป็นผู้ตรวจสอบดูแลระบบทั้งหมด” นายสมชายกล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=112971