เมื่อวันที่ 25 มกราคม 51
ท่ามกลางสภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เอทานอลกลายเป็นพลังงานทางเลือกที่หลายหน่วยงานให้ความสนใจ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พยายามทำการวิจัยเพื่อให้ได้มันสำปะหลังพันธุ์ดี ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่มีคุณภาพสูง อย่าง "พันธุ์ระยอง 9" ซึ่งเป็นมันสำปะหลังลูกผสมให้แป้งสูง ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับป้อนโรงงานเอทานอลเพื่อรองรับยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือก
ศ.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า การปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 เพื่อขยายผลผลิตเอทานอลนั้น ส่งผลดีต่อภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชนด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้แก๊สโซฮอล์ในปริมาณมาก จากที่เคยส่งออกก็หันมาผลิตเองในประเทศ เป็นการนำวัตถุดิบในประเทศมาสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ส่งผลให้งานวิจัยเรื่องมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ของศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ได้รับรางวัลชมเชยจากสภาวิจัยแห่งชาติในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550
สมศักดิ์ ทองศรี ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยและพัฒนามันสำปะหลัง สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 เป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ 2 พันธุ์ คือ แม่พันธุ์ ซีเอ็มอาร์ 31-19-23 และพ่อพันธุ์ ซีเอ็มอาร์ 29-20-118 ซึ่งสองพันธุ์มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง สามารถนำมาผลิตเอทานอลได้ และจากการผสมพันธุ์ดังกล่าวทำให้ได้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 เหมาะสำหรับทำอุตสาหกรรมแป้งมัน มันเส้น มันอัดเม็ด เหมาะใช้ปลูกป้อนโรงงานเอทานอลต่อไป
“ในการผสมพันธุ์มันสำปะหลัง ทดลองกันมากกว่าพันต้น ทำเป็นแบบขั้นบันได นำต้นกล้าอายุเดือนครึ่งที่แข็งแรงปลูกลงแปลงปลูก ปีแรกคัดพันธุ์ได้ประมาณ 2,000 ต้น หลังจากนั้นก็ปลูกขยายเพิ่มขึ้นที่ จ.ระยอง ปราจีนบุรี และขอนแก่น ด้วย พออายุครบ 1 ปีก็จะให้แป้งสูง จากมันสำปะหลังทั่วไปได้แป้งประมาณ 1 : 6 แต่มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ได้แป้ง 1 : 8-1 : 10 ทำให้ได้ผลผลิตแป้งและผลผลิตมันแห้ง เฉลี่ย 1.24 และ 2.11 ตันต่อไร่”
สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ลักษณะประจำพันธุ์ระยอง 9 คือ มีลำต้นสูง สีน้ำตาลอมเหลือง ไม่ค่อยแตกกิ่ง เมื่ออายุ 1 ปีจะสูงประมาณ 235 เซนติเมตร ก้านใบสีเขียวอ่อน แฉกใบกลางเป็นรูปใบหอก ใบและยอดอ่อนมีสีเขียวอ่อน ให้หัวมันสดสีน้ำตาล เนื้อของหัวสีขาว ปลูกได้ดีในทุกแหล่งปลูกมันสำปะหลัง ระยะเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 1 ปี เนื่องจากสะสมแป้งช้า แต่ให้ปริมาณแป้งสูง แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน นั่นคือ 1) ในที่ลมแรงจะปลูกไม่ได้ และ 2) อ่อนแอต่อไรแดงในที่แห้งแล้งต่อเนื่อง เนื่องจากไรแดงจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด ทำให้ใบร่วง แต่เมื่อฝนมา ไรแดงก็จะหายไป มันสำปะหลังก็สามารถเติบโตต่อได้
“ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรมีโรงปลูกมันสำปะหลังทั้งหมด 3 โรงแล้ว คือ ที่ จ.ขอนแก่น ระยอง และปราจีนบุรี แต่เปิดเพียงแห่งเดียวคือที่ จ.ระยอง เนื่องจากการเกรงว่าผลิตมาก เอทานอลจะล้นตลาด และสภาพเศรษฐกิจที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้หัวมันแพงตาม จากที่เคยส่งออก 140-145 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 150 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้การส่งออกชะลอตัว แต่การผลิตเพื่อใช้ในประเทศยังคงมีต่อไป” สมศักดิ์ กล่าวและว่า
ขณะนี้เกษตรกรได้นำท่อนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรปลูกในแปลงแล้วกว่า 1 หมื่นไร่ ซึ่งได้ผลผลิตค่อนข้างดี ขายหัวมันสดได้ราคาสูง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไร่ละประมาณ 500 บาท อีกทั้งยังลดปริมาณหัวสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ลงด้วย ล่าสุด กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมแผนในการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังระยอง 9 จำนวนกว่า 8 แสนท่อน เอาไว้รองรับความต้องการของเกษตรกรทั่วประเทศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 25 มกราคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/01/25/x_agi_b001_186892.php?news_id=186892