เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 51
แม้ปัจจุบันความต้องการมันฝรั่งเพื่อป้อนโรงงานสูงถึงปีละ 1.2 แสนตัน ทว่าการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยก็ยังต้องพึ่งพาหัวพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ากว่า 75 ล้านบาทต่อปี ไม่เพียงเท่านั้นแต่ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเท่านั้น ยังสุ่มเสี่ยงต่อการนำโรคเข้ามาในราชอาณาจักรอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เองทำให้กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพที่ทนต่อสภาพพื้นที่และภูมิอากาศในเมืองไทยจนประสบความสำเร็จ ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและขยายต้นพันธุ์ปลอดโรคให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ
จำลองอธิบายต่อว่า การผลิตหัวพันธุ์หลักนั้นเริ่มจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ต้นอ่อนปลอดโรคพันธุ์แอตแลนติก (Atlantic) ซึ่งได้รับมาจากศูนย์มันฝรั่งระหว่างประเทศ (ซีไอพี) ทำการขยายโดยการ sub culture ทุก 2-3 สัปดาห์เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้ผลิตต้นแม่พันธุ์ จากนั้นนำต้นอ่อนปลอดเชื้อจากห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อย้ายลงปลูกในกระบะภายในโรงเรือนกันแมลง โดยวัสดุปลูกต้องผ่านการอบฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสเป็นเวลาครึ่งถึง 1 ชั่วโมง เมื่อต้นอ่อนเติบโตให้ตัดยอดมีใบติดอยู่ 3-4 ใบแล้วนำไปปักชำขยายพันธุ์ต่อเป็นต้นแม่พันธุ์
"ระหว่างที่ปักชำเราก็จะสุ่มตัวอย่างต้นแม่พันธุ์นำไปตรวจโรคไวรัสและโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรียโดยวิธี เอ็นซีเอ็ม อีลิซ่า (NCM Elisa) เป็นระยะๆ เพื่อให้มั่นใจว่าต้นพันธุ์ปลอดโรค ก่อนจะตัดชำต้นแม่พันธุ์เพื่อนำมาผลิตหัวพันธุ์หลักต่อไป โดยจะสามารถตัดชำยอดต้นแม่พันธุ์ได้ทุก 10-15 วันต่อต้น" ผอ.ศูนย์คนเดิมแจงรายละเอียด
เขาระบุอีกว่า หลังจากได้หัวพันธุ์หลักแล้ว จากนั้นก็จะนำไปเก็บรักษาในห้องเย็นระยะเวลา 5-6 เดือน ก่อนนำออกมาผึ่งเป็นชั้นในโรงเก็บแบบพรางแสง หลังจากนำหัวพันธุ์ออกผึ่งได้ 1 เดือนก็จะมีหน่องอกออกมา พร้อมที่จะนำไปปลูกลงแปลงเพื่อผลิตเป็นหัวพันธุ์ขยายต่อไป
"เมื่อพบต้นที่แสดงอาการเป็นโรคไวรัสหรือโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรียต้องรีบถอนทิ้งนำไปฝังหรือเผาทำลายเพื่อไม่ให้ระบาดไปยังต้นที่ดี เราจะเก็บเกี่ยวเมื่อต้นมันฝรั่งมีอายุได้ 90-110 วันแล้วนำไปเก็บรักษาในห้องเย็นเพื่อเตรียมปลูกขยายเป็นหัวพันธุ์รับรอง หรือ จี 2 ในฤดูกาลต่อไป" จำลองกล่าว
ขณะที่สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวถึงโครงการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อทดแทนการนำเข้าระหว่างนำคณะสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมศูนย์ว่ากรมวิชาการจะเร่งผลิตหัวพันธุ์หลักและหัวพันธุ์ขยาย ให้ทางภาคเอกชนหรือเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรไปปลูกเพื่อผลิตเป็นหัวพันธุ์รับรอง โดยจะมีนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรคอยให้คำแนะนำในการตรวจแปลงและการเก็บตัวอย่างการตรวจสอบโรคเป็นระยะๆ
"เป้าหมายในปี 2554 หลังสิ้นสุดโครงการเราจะได้หัวพันธุ์ จี 3 หรือผลผลิตของเกษตรกรประมาณ 1,707 ตันเพื่อส่งโรงงานแปรรูป คาดว่าจะสามารถลดการนำเข้าหัวพันธุ์จากต่างประเทศได้ประมาณร้อยละ 20 และยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ด้วย" อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นอีกก้าวของวงการเกษตรไทยในการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่เพียงแต่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนช่วยประเทศประหยัดเงินตราเท่านั้นยังป้องกันโรคร้ายที่อาจจะเล็ดลอดเข้ามาในราชอาณาจักรอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 27 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/27/x_agi_b001_233276.php?news_id=233276