เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 51
หากย้อนอดีตกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยนับเป็นประเทศมีการปลูกข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพทางภูมิประเทศทั้งที่เป็นภูเขา ที่ดอน ที่ลุ่ม หรือที่ชุ่มน้ำ แต่หลังจากเกิดการปฏิวัติเขียวในปี 2503 (Green revolution : พ.ศ.2503)
ทำให้ชาวนาเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และมีการส่งเสริมการปลูกข้าวเพียงไม่กี่ชนิดเพื่อการส่งออก โดยที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องแสวงหาและคัดเลือกสายพันธุ์ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้จึงก่อให้เกิดการทำลายพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน จนเมล็ดพันธุ์ข้าวต่างๆ สูญหายไปจากวิถีชีวิตของชาวนา แต่พันธุ์ข้าวเหล่านี้กลับไปอยู่ในธนาคารเมล็ดพันธุ์ในต่างประเทศ และธนาคารเมล็ดพันธุ์ในต่างประเทศที่ว่านี้ได้มีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ใหม่ออกมาแล้วนำกลับมาขายในลักษณะผูกขาดทำกำไรทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมี ที่ต้องใช้ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่ต้องการ
ด้วยเหตุนี้ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สุรินทร์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมด้านการเกษตรยั่งยืน จึงร่วมกับกลุ่มเกษตรธรรมชาติ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน จัดทำ “โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้าน” ขึ้นมา เพื่อสำรวจข้อมูลพันธุ์ข้าวพื้นบ้านแล้วรวบรวมจัดเก็บ พัฒนา และขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ลดการนำเข้าหรือซื้อเมล็ดพันธุ์จากเอกชน และช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของไทยสูญหายไปจากการส่งเสริมข้าวพันธุ์ใหม่ที่เน้นในเรื่องของปริมาณและผลผลิต ทั้งๆ ที่พันธุ์ข้าวพื้นบ้านเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการ วิตามิน สารอาหารต่างๆ สูง สสส.จึงมีการส่งเสริมให้รื้อฟื้นนำข้าวพันธุ์เหล่านี้มาปลูกอีก ถือเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองเรื่องของโภชนาการเพราะมีคุณค่าทางอาหาร อีกด้านหนึ่งก็คือลดต้นทุนการผลิตเพราะไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยและสารเคมีด้วย
"โครงการนี้จะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรไทยในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากเอกชนหรือบริษัทข้ามชาติซึ่งมีราคาแพง และต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยาในปริมาณที่สูง ทำให้เกษตรกรต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก ข้อดีอย่างแรกก็คือชาวบ้านได้กินข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สอง ลดต้นทุนการผลิตเพราะพันธุ์ เพราะข้าวพื้นบ้านส่วนใหญ่ถูกปรับตัวให้เหมาะสมต่อสภาพนิเวศของท้องถิ่น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี” นายวิฑูรย์กล่าว
เขากล่าวอีกว่า ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็เปรียบเสมือนเป็นฐานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นมรดกทางทรัพยากรและภูมิปัญญาของชาติ สำหรับแผนงานของ สสส.ในปี 2552 จะเน้นไปที่เรื่องของกระบวนการอาหารท้องถิ่น โดยจะรวบรวมภูมิปัญญาเกี่ยวกับอาหารที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเชื่อมโยงของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสร้างกระบวนการอาหารท้องถิ่นที่สามารถต้านทานและเผชิญหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์และบริโภคนิยมของการค้าในปัจจุบันให้ได้
ด้าน นายอารัติ แสงอุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สุรินทร์ กล่าวว่า คณะทำงานมีแนวทางในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรยั่งยืนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ด้วยการปลูกพืชที่หลากหลาย ให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้โดยใช้พันธุกรรมในท้องถิ่นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับชุมชน ซึ่งใน ต.ทมอ อ.ปราสาท เป็นเครือข่ายเกษตรกรแห่งแรกที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ขึ้นได้เป็นผลสำเร็จ มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้กว่า 35 ครอบครัว ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวถึง 15 ครอบครัว มีพื้นที่ใช้ในการคัดและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ประมาณ 60 ไร่ สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้แก่สมาชิก
“ทุกวันนี้ชาวบ้านมีบทบาทในการจัดการพันธุ์ข้าวของตนเองน้อยลงทุกทีตามนโยบายด้านการเกษตรแผนใหม่ ซึ่งทำให้มีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงขึ้น หากชาวบ้านผลิตและพัฒนาพันธุ์ข้าวได้เอง ผลที่ได้ก็คือประหยัดค่าใช้จ่าย เกษตรกรมีความสามารถในการคัดและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นให้เป็นข้าวที่มีคุณภาพ ทำให้ขายข้าวได้ในราคาที่ดี นอกจากนี้ชาวบ้านก็ยังสามารถขายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เพื่อนบ้านในชุมชนได้ และยังทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรในท้องถิ่นกลับคืนมาสู่ชุมชน" นายอารัติกล่าว
ขณะที่ นายภาคภูมิ อินทร์แป้น เกษตรกรนักพัฒนาพันธุ์ข้าว บ้านโดนเลงใต้ ต.ทมอ กล่าวด้วยว่า เข้าร่วมเป็นสมาชิกเกษตรกรรมทางเลือกมาตั้งแต่ปี 2543 มีอาชีพหลักคือทำนาปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวใช้เองทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ ได้กินอาหารที่ปลอดภัย และช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยและสารเคมี ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่กำลังปลูกและพัฒนาอยู่ทั้งสิ้น 23 สายพันธุ์
"ก่อนหน้านี้ต้องเสียเงินซื้อพันธุ์ข้าว ซึ่งข้าวที่ได้มาก็ไม่บริสุทธิ์มักมีพันธุ์ข้าวอย่างอื่นปะปนมา พอมาทำพันธุ์ข้าวใช้เอง ข้อดีก็คือลดค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวอื่นปนได้ ซึ่งการพัฒนาพันธุ์นั้นชาวบ้านสามารถทำเองได้และน่าจะทำได้ดีกว่าภาครัฐด้วยซ้ำ ที่สำคัญยังสร้างให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักในการพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องถูกผูกขาดเรื่องเมล็ดพันธุ์จากเอกชนหรือรัฐบาล” นักพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกล่าว
ท่ามกลางปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก พันธุ์ข้าวพื้นบ้านถือว่าเป็นความมั่นคงด้านอาหารของชาติอีกทางหนึ่ง และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านเป็นโครงการตัวอย่างอีกโครงการหนึ่งที่ปลดแอกชาวนาไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของบริษัทข้ามชาติ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เข้ามีบทบาทในการครอบครองปัจจัยการผลิตต่างๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นหัวใจสำคัญที่ชาวบ้านจะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้และพัฒนาต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/12/01/x_agi_b001_233704.php?news_id=233704