เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 51
ไก่พื้นเมือง เป็นของที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่โบราณ และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในบ้านเรา แต่ความที่อยู่ใกล้ตัวมากอย่างนี้ ก็เลยทำให้ทุกคนมองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าสนใจ
และไม่มีการพัฒนาของที่มีอยู่นั้นให้ดีขึ้น สิ่งที่ทำกันมากคือการพัฒนาไก่เนื้อที่เลี้ยงเป็นการค้า และสามารถส่งออก ทำรายได้มหาศาลให้เราทุกวันนี้ แต่ว่าไก่เนื้อที่เราเลี้ยงกันอยู่ก็เป็นของที่ไม่ได้ถือกำเนิดในเมืองไทย แต่เป็นการพัฒนาทั้งพันธุ์และเทคโนโลยีการเลี้ยงมาจากต่างประเทศทั้งนั้น
วันนี้ก็เป็นที่น่ายินดีครับ ที่เรื่องของไก่พื้นเมือง ได้รับความสนใจมากขึ้นจนเกิดเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สำนักงานสนับสนุนกองทุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งของโครงการนี้ก็คือการสร้างฝูงพันธุ์ไก่พื้นเมืองจำนวน 4 สายพันธุ์ เพื่อให้มีความสม่ำเสมอและใกล้ความเป็นฝูงพันธุ์แท้มากขึ้น เพื่อจะได้นำไปให้เกษตรกรนำไปผสมและเลี้ยงกันต่อไป ซึ่งวิธีนี้น่าจะทำให้ไก่พื้นเมืองของเรามีคุณภาพดีขึ้น
โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ และมีกรมปศุสัตว์เป็นผู้ดำเนินการเป็นหลักโดยมี คุณอุดมศรี อินทรโชติ จากกรมปศุสัตว์ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้โครงการนี้ก็มีโครงการย่อยอยู่หลายโครงการและหนึ่งในนั้นคือโครงการวิจัยการพัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองประดู่หางดำ ซึ่งมี คุณอำนวย เลี้ยวธารากุล นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ กรมปศุสัตว์ เป็นผู้ดำเนินการ
เหตุที่เลือกไก่ประดู่หางดำก็เพราะว่าปัจจุบันการหาไก่พื้นเมืองไทยสายพันธุ์แท้ต่างๆ ที่มีการกล่าวมาในอดีต เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเกษตรกรที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองทั่วไป มักจะเลี้ยงและผสมพันธุ์ไก่โดยปล่อยตามธรรมชาติ ไม่ได้สนใจการแยกพันธุ์หรือสายพันธุ์ หรือแม้แต่ผู้เลี้ยงไก่ชนก็มักจะสนใจเฉพาะไก่ที่ชนเก่ง ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสี ขนหรือลักษณะภายนอกต่างๆ และยังมีการนิยมเอาไก่พื้นเมืองของพม่า เวียดนาม และบราซิลมาผสมกับไก่พื้นเมืองไทย เพื่อประโยชน์ในการชนซึ่งทำให้มีการปนเปื้อนและการสูญเสียพันธุกรรมของไก่พื้นเมืองไทย
ดังนั้นโครงการนี้จึงมีเป้าหมายในการสร้างฝูงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำพันธุ์แท้ (Pure breed) ของประเทศไทย ที่มีการสร้างพันธุ์ขึ้นมาอย่างเป็นทางวิชาการ มีลักษณะประจำพันธุ์ทั้งลักษณะทางคุณภาพ และลักษณะทางปริมาณ เหมือนมาตรฐานสัตว์พันธุ์แท้ของนานาชาติ โดยให้เลี้ยงได้ในสภาพชนบท และให้มีความสามารถของพันธุ์ในการผลิตไก่พันธุ์แท้และลูกผสมที่ดีในระดับอุตสาหกรรมได้
ผลที่ได้จากโครงการนี้ก็คือมีการนำพันธุ์ไก่ที่สร้างขึ้นมา ไปใช้ประโยชน์ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยง และจำหน่ายไก่พื้นเมืองและไก่ลูกผสมพื้นเมือง ทั้งในระดับฟาร์มเอกชนที่เป็นอุตสาหกรรม ฟาร์มของรัฐบาล จนถึงระดับเกษตรกรกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้ ซึ่งก็กลายเป็นต้นแบบหนึ่งของความสำเร็จในเรื่องของไก่พื้นเมือง ซึ่งก็คงมีการขยายผลไปยังไก่พันธุ์อื่นๆ อีกต่อไป
ผลงานชิ้นนี้จึงกลายเป็นผลงานเด่นชิ้นหนึ่งที่ สกว. มีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดขึ้นครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/12/01/x_agi_b001_233705.php?news_id=233705