สร้างมาตรฐาน 'สินค้าเกษตรอินทรีย์' ดึงตลาดโลก
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 51
สร้างมาตรฐาน 'สินค้าเกษตรอินทรีย์' ดึงตลาดโลก
ปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ เร่งขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามแผน “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2551-2554)” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหาร ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรอินทรีย์ และพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญในระดับภูมิภาค
เมทนี สุคนธรักษ์ ผอ.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายให้เกษตรกรขยายพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 200,000 ไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้มีความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพส่งออก เช่น ข้าวอินทรีย์ ชาอินทรีย์ พืชผัก สมุนไพร ผลไม้เมืองร้อน และกุ้งอินทรีย์ เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีแผนส่งเสริมให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้สินค้าที่ผ่านการรับรองและเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า พร้อมเชื่อมโยงการผลิต การแปรรูปและการตลาด เพื่อให้ได้สินค้าที่มีปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งมีกำลังซื้อสูง
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย มกอช.ได้กำหนด มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ครอบคลุมทั้ง สินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรและการตรวจรับรอง โดย กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศใช้มาตรฐานแล้ว 3 เรื่อง คือ 1.มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 : การผลิต การแปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่ายเกษตรอินทรีย์ 2.มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เล่ม 2 : ปศุสัตว์อินทรีย์ หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับด้านฟาร์มปศุสัตว์ใช้คู่กับมาตรฐานเล่ม 1 และ 3.มาตรฐานระบบการผลิตเฉพาะสินค้า ได้แก่ การเลี้ยงกุ้งทะเลระบบอินทรีย์ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวได้อ้างอิงถึงมาตรฐาน Codex และมาตรฐานของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM)
ส่วนระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์นั้น มกอช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรอง ระบบงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมบูรณาการพัฒนาระบบการรับรองในรูปแบบเครือข่าย โดย มกอช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body:AB) ให้การรับรองระบบงาน (Accredit) แก่หน่วยรับรอง (Certification Body :CB) ที่ตรวจสอบรับรองมาตรฐานในด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ขณะเดียวกันยังได้จัดระบบองค์กรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และในการดำเนินการเพื่อให้มาตรฐานและระบบการรับรองของไทยเป็นที่ยอมรับของสหภาพยุโรป
ขณะนี้ประเทศไทยได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ขอสมัครขึ้นทะเบียนเป็นประเทศในบัญชีประเทศที่ 3 (Third Country list) ของ EU แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการเพื่อให้ EU ยอมรับมาตรฐานและระบบรับรองของไทย อาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เนื่องจากต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด เงื่อนไขและกฎระเบียบของ EU เพื่อให้มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีความทัดเทียมและสอดคล้องกับข้อบังคับของ EU ด้วย ในอนาคตหากไทยเข้าอยู่ในบัญชีประเทศที่ 3 ได้ คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดกลุ่มยุโรปได้คล่องตัวมากขึ้น โดยใช้ระบบการตรวจรับรองของไทยเอง
ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อการบริโภคทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก นอกจากจะช่วยลดมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพการส่งออกสินค้าเกษตรไทยให้โดดเด่นในตลาดโลก.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=184062&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น