นักวิจัย มก. พบสาหร่ายเซลล์เดียว ผลิตอาหารเสริมกุ้ง ต้นทุนต่ำ อัตราการรอดสูง
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 51
นักวิจัย มก. พบสาหร่ายเซลล์เดียว ผลิตอาหารเสริมกุ้ง ต้นทุนต่ำ อัตราการรอดสูง
การเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทย มีการดำเนินการมาช้านาน โดยเริ่มจากการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งแชบ๊วย ต่อจากนั้นก็เป็นการเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา โดยใช้เทคโนโลยีจากไต้หวัน และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่มักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคระบาด อัตราการเจริญของกุ้งกุลาดำค่อนข้างต่ำ การแตกขนาดของกุ้งในบ่อเพาะเลี้ยง ประกอบกับราคากุ้งตกต่ำ ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่หันมาเลี้ยงกุ้งขาวแทน ซึ่งสามารถนำเงินตราจากต่างประเทศได้มากกว่า 47,000 ล้านบาทต่อปี มีผลทำให้เศรษฐกิจของเกษตรกรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น อีกทั้งยังส่งผลต่อการเกิดต้นทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตอาหารกุ้ง อุตสาหกรรมห้องเย็น การผลิตกุ้งแช่แข็งสูงด้วย
ดร.วิเชียร ยงมานิตชัย อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จ ในการนำสาหร่ายเซลล์เดียว Schizochytrium ที่แยกได้มาจากป่าชายเลนของประเทศไทย มาทำการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถนำมาสกัด DHA (docosahexaenoic) ที่มีปริมาณสูง จนถือได้ว่าเป็นแหล่งกรดไขมัน โอเมกา -3 ที่มีศักยภาพในการผลิตทางอุตสาหกรรม โดยที่ DHA เป็นหนึ่งในกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายพันธะ ในกลุ่มโอเมกา -3 เป็นกรดไขมันชนิดจำเป็นเนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง จึงต้องได้รับจากการบริโภคอาหารที่มี DHA ที่ผ่านมาน้ำมันปลาจะเป็นแหล่งสำหรับการผลิตทางอุตสาหกรรม แต่น้ำมันปลามี DHA อยู่จำกัดคือ ประมาณ 7-14% ทำให้การผลิตต้องใช้ปลาจำนวนมากและยังมีปัญหาในการสกัดและทำให้บริสุทธิ์ที่ต้องกำจัดคอเลสเตอรอล และสิ่งเจือปนที่เป็นพิษ ปัญหากลิ่นคาวของปลาและความคงตัว ทำให้กระบวนการผลิต DHA มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้การผลิต DHA คุณภาพสูงทำได้ยากในระดับอุตสาหกรรม อีกทั้งกรดไขมัน DHA ไม่พบในน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม รวมทั้งน้ำมันเมล็ดทานตะวัน
ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องในการเสาะหาจุลินทรีย์ ที่จะนำมาเป็นแหล่งทดแทน DHA ทางอุตสาหกรรม และพบว่าสาหร่ายเซลล์เดียว Schizochytrium นี้มีศักยภาพสูง เนื่องจากการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว มีปริมาณไขมันสะสมในเซลล์สูง และมีสัดส่วนของ DHA ในไขมันสูงมากกว่า 35% ของ กรดไขมันทั้งหมด ซึ่งข้อดีของการผลิต DHA จากสาหร่ายเซลล์เดียว Schizochytrium อยู่ที่สาหร่ายนี้สามารถสะสม กรดไขมันในเซลล์ได้ในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังมีอัตราการเจริญเติบโตสูงในแหล่งอาหารที่ไม่ซับซ้อนมีความหลากหลาย และราคาถูก จึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายในด้านวัตถุดิบ การผลิต DHA จากสาหร่าย Schzochytrium สามารถทำได้ตลอดปีไม่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และ สภาพภูมิประเทศหรือภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยมีสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดนี้ที่สามารถพัฒนา การเพาะเลี้ยงไปสู่การผลิต DHA ทางการค้าได้โดยไม่ติดปัญหาทางด้านสิทธิบัตร
ดร.วิเชียร ยังกล่าวต่อไปว่า ปกติกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายพันธะ ในกลุ่มโอเมกา -3 เป็นกรดไขมันชนิดจำเป็น เนื่องจากมีความสำคัญในการช่วยป้องกันและรักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะต่อการพัฒนาการการมองเห็นและการทำงานของสมองในทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงทารกแรกเกิด จึงพบว่าในปัจจุบันมีการเสริม DHA ในนมผงเลี้ยงทารกและอาหารสำหรับทารก นอกจากนี้ DHA ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวอ่อนของปลาทะเลบางชนิด ซึ่งทำให้ปลาที่ได้รับ DHA อย่างเพียงพอในช่วงตัวเต็มวัยก่อนที่จะมีการวางไข่ จะทำให้ไข่มีอัตราในการฟักเป็นตัวสูง ตัวอ่อนแข็งแรง ปริมาณของไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์สูง และมีอัตราการรอดชีวิตของตัวอ่อนสูง
จากการวิจัยที่นำ Schizochytrium ไปทดลองกับการเลี้ยงลูกกุ้งขาว ที่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าได้ผลที่ดีมาก จึงเชื่อว่า DHA จากสาหร่ายเซลล์เดียว Schizochytrium เหมาะที่จะนำมาใช้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งได้เป็นอย่างดี โดยเชื่อว่าการวิจัยที่จะนำ Schizochy trium ไปเป็นอาหารลูกกุ้งจะลดปัญหาโรคระบาดและการแตกขนาดของกุ้งได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุด้วย เพราะเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานให้กับลูกกุ้งที่มีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์ ทำให้ลูกกุ้งแข็งแรงสามารถต่อสู้กับไวรัสที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ และสามารถแย่งอาหารได้เท่าเทียมกันเมื่อนำไปเลี้ยงในบ่อดิน
นอกจากนี้ทางการแพทย์เชื่อว่ากรดไขมันในกลุ่มโอเมกา -3 เป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์สารคล้ายฮอร์โมนที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อโรคบางชนิด ที่ผ่านมาเกษตรกรที่เพาะฟักลูกกุ้งใช้สาหร่าย Chaetoceros sp. หรือ Skeletonema sp. ที่มีแต่ EPA และไม่มี DHA การเสริม DHA จากสาหร่ายเซลล์เดียว Schizo chytrium ในการเพาะเลี้ยงระยะเริ่มแรกจะมีผลทำให้ลูกกุ้งแข็งแรง ลดปัญหาการแตกขนาด และสามารถเติบโตได้ตามปกติเมื่อนำไปเลี้ยงในบ่อดิน นอกจากนี้ DHA จาก Schizochytrium ยังมีคุณภาพสูง สามารถทำให้มีความบริสุทธิ์จนถึงระดับนำไปใช้ทางโภชนาการ เพื่อเป็นอาหารเสริมสำหรับมนุษย์ได้ ที่สำคัญในประเทศไทยมีสาหร่ายเซลล์เดียว Schizochytrium ที่สามารถพัฒนาการ เพาะเลี้ยงไปสู่การผลิต DHA เป็นอุตสาหกรรมเพื่อเลี้ยงลูกกุ้ง หรือผสมกับอาหารกุ้งได้ในปริมาณมาก
สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ขอทราบรายละเอียดได้ที่ ดร.วิเชียร ยงมานิตชัย ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 0-2562-5444 ต่อ 4024.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=152575&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น