เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 51
สัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดแถลงผลงานเด่นประจำปี 2551 จำนวน 24 ผลงาน โดยพิจารณาจากผลงานวิจัยของฝ่ายต่างๆ พันกว่าโครงการ และคัดโครงการที่เห็นว่าเด่นออกมาเผยแพร่
ผ่านการแถลงข่าวดังกล่าว และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของการสร้างไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ ซึ่งได้ล่าให้ฟังแล้วในสัปดาห์ที่แล้ว คราวนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรอีก 2-3 เรื่อง ที่คิดว่าน่าสนใจและจะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้
อย่างเช่นเรื่องของแคบหมูกึ่งสำเร็จรูปสำหรับไมโครเวฟ ซึ่งมีอาจารย์อรทัย บุญทะวงศ์ จากคณะวิชาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อจะแก้ปัญหาและพัฒนาแคบหมูซึ่งคนไทยนิยมกินกันทั่วไปให้มีคุณภาพดีขึ้น ที่สำคัญคือเน้นเรื่องสุขภาพ เพราะว่าปัญหาที่เรารู้กันอยู่คือ วิธีการผลิตแคบหมูแบบเดิมที่ใช้กันอยู่คือการทอดในน้ำมันโดยใช้ความร้อนสูง ซึ่งแน่นอนว่าการใช้อุณหภูมิสูงมีผลทำให้น้ำมันเสื่อมคุณภาพเร็วและมีการแตกตัวให้สารพิษที่เรากลัวกันนักหนาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็ง แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ผู้ผลิตมักจะมองเรื่องความประหยัดเป็นหลัก จึงมีการใช้น้ำมันดังกล่าวทอดซ้ำแล้วซ้ำอีกจนดำไปหมด คงไม่ต้องสงสัยว่าจะมีผลอย่างไรต่อสุขภาพของเรา
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อแคบหมูผ่านการทอดแล้ว มักจะเก็บได้ไม่นาน เพราะว่าจะเกิดกลิ่นหืน เสียรสชาติ จึงวางขายได้ไม่นาน ดังนั้นนักวิจัยจึงหาทางทำแคบหมูให้อยู่ในรูปแห้ง เมื่อจะบริโภคก็นำเข้าไมโครเวฟที่มีใช้กันแพร่หลายตามบ้านเรือนทุกวันนี้ เหมือนกับข้าวโพดคั่วที่บรรจุซองแล้วเข้าไมโครเวฟไม่กี่นาทีก็กินได้ อย่างไรก็อย่างนั้น
แคบหมูที่ได้จากงานวิจัยมีข้อดีที่เห็นชัดคือ ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งจากน้ำมันทอดซ้ำ เพราะว่าในกระบวนการนี้ไม่ต้องใช้น้ำมันทอด ดังนั้นปริมาณน้ำมันตกค้างในแคบหมูจึงไม่มี นอกจากไขมันในตัวของวัตถุดิบเอง โดยมีข้อมูลว่าปริมาณไขมันในแคบหมูแบบนี้จะลดลงร้อยละ 10-35 เมื่อเทียบกับแคบหมูที่ผ่านการทอด แคบหมูจึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น สะดวกต่อการบริโภค และสามารถรักษาคุณภาพของแคบหมูได้นานขึ้นเพราะว่าเก็บในรูปแห้ง ส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถขยายตลาด และยืดอายุของผลิตภัณฑ์ได้นานมากขึ้น
ผลงานจากโครงการนี้สามารถทำให้แคบหมูพองตัวโดยไม่ต้องใช้วิธีการทอด โดยนำไปอบในเตาไมโครเวฟที่ความร้อน 800-1,000 วัตต์ เป็นเวลา 2-3 นาที โดยลักษณะคุณภาพทางกายภาพด้านความพองและความกรอบของแคบหมูที่ได้ไม่มีความแตกต่างกับแคบหมูที่ใช้วิธีการทอดในน้ำมัน และจากการทดสอบการยอมรับในผลิตภัณฑ์แคบหมูกึ่งสำเร็จรูปสำหรับไมโครเวฟของผู้บริโภคทั่วไป พบว่าผู้บริโภคให้การยอมรับในผลิตภัณฑ์แคบหมูกึ่งสำเร็จรูปสำหรับไมโครเวฟถึงร้อยละ 86.5 และหากมีผลิตภัณฑ์ออกมาขาย ก็พร้อมที่จะซื้อหามากิน ดังนั้นผลิตภัณฑ์แคบหมูกึ่งสำเร็จรูปสำหรับไมโครเวฟจึงมีโอกาสออกสู่ตลาดให้คนไทยได้กินกันอย่างปลอดภัยในอีกไม่นานนี้ครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/12/08/x_agi_b001_234929.php?news_id=234929