เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 51
ผ้าไหม....มีกระบวนการผลิตก่อนนำเส้นไปทอและตัดเป็นเครื่องนุ่งห่ม ต้องผ่านการลอกกาวออกจากเส้นไหมเสียก่อน มิฉะนั้นการย้อมสีไม่ติด
ปัจจุบันผู้ประกอบการทอผ้าไหมจะพัฒนาโดยการใช้ สารเคมี จำพวก โซเดียมคาร์บอเนต ซึ่งจะมีน้ำเสียปล่อยทิ้งสู่ธรรมชาติ ทำให้ค่า pH สูงถึง 8-9 กลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
อาจารย์ศรันยา เกษมบุญญากร หัวหน้าสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ร่วมกับนิสิตจากภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย นางสาวทักษอร แซ่ยุ้ง กับ นางสาววรวรรณ รุ้งแสงเจริญทิพย์ จึงทำโครงการวิจัย “การลอกกาวไหมด้วยเอนไซม์ธรรมชาติ” ด้วย เอนไซม์ปาเปน จาก มะละกอดิบ กับ เอนไซม์โบรมิเลน จาก น้ำสับปะรด โดยวิธีการแช่หมักและการแช่หมักและเติม Wetting agent พร้อมกับนำไปเปรียบเทียบกับ การใช้สารเคมี
อาจารย์ศรันยา เกษมบุญญากร บอกว่า...การ ศึกษาผลการลอกกาวจากร้อยละของน้ำหนักที่สูญหาย รวมถึงความรู้สึกสัมผัสและความขาวของเส้นใย วิธีการใช้โดยเริ่มหาน้ำหนักไหมดิบ (ที่เป็นเส้นยังไม่ได้ย้อมสี) แล้วนำเข้าอบด้วยเครื่องอบ (WTC binder) ที่ อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง จากนั้นนำไหมเข้าเครื่องดูดความชื้นนาน 90 นาที หรือจนกว่าค่าความชื้นคงที่ ชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งดิจิตอล
ขั้นตอน....นำไหมดิบไปลอกกาวด้วย มะละกอดิบ และ น้ำสับปะรด ใช้ อัตราส่วนน้ำ : ไหม เท่ากับ 10 : 1 ใส่มะละกอดิบหรือน้ำสับปะรด 2 เท่าของน้ำหนักไหม แช่หมักรวมกันพร้อมกับขยำทำความสะอาดเป็นระยะๆในเวลานาน 30 นาที 60 นาที และ 90 นาที ก่อนจะล้างไหมด้วยน้ำให้สะอาด 5 ครั้ง และผึ่งบนราวให้แห้งสนิท
ส่วนวิธีการลอกกาวโดยใช้สารเคมี ใช้อัตราส่วน น้ำ : ไหม เท่ากับ 30 : 1 โซเดียมคาร์บอเนต 5% ของน้ำหนักไหม Wetting agent 1% ของน้ำหนักไหม นำไหมดิบลงต้มที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ล้างไหมด้วยน้ำให้สะอาด 5 ครั้ง ผึ่งไหมให้แห้งสนิท หาน้ำหนักไหมหลังการลอกกาวด้วยวิธีการเดียวกับการหาน้ำหนักก่อนการลอกกาว
ผลการทดลองพบว่า....การลอกกาวไหมด้วยน้ำสับปะรดได้ผลดีกว่าใช้มะละกอ ซึ่ง จะให้ผลดีกว่าเมื่อใช้ Wetting agent และการใช้เวลาที่นานกว่าจะให้ผลที่ดีมากขึ้น ทั้งนี้ ผลการลอกกาวด้วยสารเคมี น้ำสับปะรดและมะละกอดิบ โดยมี Wetting agent ได้ค่าเฉลี่ยร้อยละ น้ำหนักที่สูญหาย 22.480, 10.803, 13.820 ตามลำดับ
ฉะนั้น หากจะต่อยอดผลงานนี้ เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบอาชีพทำผ้าไหมหันมาปรับเปลี่ยนจาก การลอก กาวไหมด้วยสารเคมี มา ใช้เอนไซม์ จากธรรมชาติ แล้ว ย่อมสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยังประหยัดเงินที่ใช้ซื้อสารเคมีอีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=114297