ระบบพยากรณ์น้ำ หัวใจของการบริหารจัดการน้ำยุคไฮเทค
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 51
ระบบพยากรณ์น้ำ หัวใจของการบริหารจัดการน้ำยุคไฮเทค
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญลุ่มน้ำหนึ่งของประเทศไทย และมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุด คือมีพื้นที่ประมาณ 162,000 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยลุ่มน้ำหลักทางภาคเหนือ คือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน และทางภาคกลางคือ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน
อย่างไรก็ตามอุทกภัยขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก
สำหรับการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ได้ดำเนินการหลาย ๆ ด้าน ทั้งมาตรการแบบแข็งและอ่อน (Hard and soft Measures) และเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ได้แก่ ระบบที่สามารถพยากรณ์การไหลของน้ำและคาดการณ์การเกิดน้ำท่วม โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือ ซึ่งสามารถนำมาช่วยในการเตือนภัยและเตรียมการเพื่อช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
กรมชลประทานเล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีดังกล่าว จึงได้ให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาและจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขึ้นมา
การจัดทำแบบจำลองดังกล่าวจะพิจารณาข้อมูลในทุก ๆ ด้านที่มีผลต่อการเกิดอุทกภัย ไม่ว่าจะเป็นมรสุมพายุโซนร้อน และดีเปรสชั่น ที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำท่าที่ไหลมาจากพื้นที่รับน้ำตอนบนมีปริมาณมากเกินความสามารถรับน้ำของแม่น้ำ ระดับน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเวลาเดียวกับน้ำหลาก โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการสร้างแนวคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปท่วมในพื้นที่ราบลุ่มที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมสองฝั่ง ทำให้เกิดการยกตัวของระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและเพิ่มอัตราการไหลของลำน้ำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จังหวัดอ่างทองและบริเวณพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
รวมทั้งการทรุดตัวของแผ่นดิน ส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลที่สภาพของแผ่นดินทรุดต่อเนื่องมายาวนาน จนส่งผลให้ในบางพื้นที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้โดยวิธีปกติด้วยการระบายออกตามแรงโน้มถ่วงจะต้องใช้วิธีสูบน้ำออกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้นำมาพิจารณาในการจัดทำแบบจำลองด้วย
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้การศึกษาและจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมที่จะนำมาใช้ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ระบบพยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 33,200 ตารางกิโลเมตร ในเขต 22 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีนเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพและจะทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า 3-7 วัน ซึ่งเพียงพอที่จะเตรียมการป้องกันและแจ้งเตือนประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้โครงการศึกษาพัฒนาระบบพยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน เป็นโครงการนำร่อง หากนำมาใช้ในปี 2552 แล้วทำให้ข้อมูลการตรวจวัดปริมาณน้ำของกรมชลประทานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งช่วยบรรเทาความเสียหาย และความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว กรมชลประทานจะขยายโครงการไปในลุ่มน้ำอื่น ๆ
สำหรับลุ่มน้ำที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วนที่จะใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์พยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำนั้นคือลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลซึ่งเป็นลุ่มน้ำหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ซึ่งจะสามารถเตือนภัยและเตรียมการช่วยลดความเสียหาย ตลอดจนควบคุมการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี-มูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความถูกต้องมากขึ้น หลังจากนั้นก็จะขยายผลไปยังลุ่มน้ำอื่น ๆ เช่นเดียวกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=184664&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น