เมื่อวันที่ 28 มกราคม 51
จากปัญหาการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของปลาซัคเกอร์ในแหล่งน้ำสาธารณะของประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาพื้นเมืองที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบมีการศึกษาวิจัยข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ปลาชนิดนี้ เพื่อให้การควบคุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับแผนการดำเนินการแก้ปัญหาปลาซัคเกอร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
(1) แผนระยะสั้น : ดำเนินการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายปลาซัคเกอร์ เข้าใจถึงอันตรายของพันธุ์ปลาชนิดนี้ที่มีต่อปลาพื้นเมือง กล่าวคือ ปลาซัคเกอร์สามารถอาศัยในแหล่งน้ำได้ทุกรูปแบบ กินอาหารได้เกือบทุกชนิดและสามารถวางไข่สืบพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ ดังนั้น การเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องของปลาซัคเกอร์ อาจส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทย โดยการแก่งแย่งอาหาร ที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ของปลาพื้นเมือง จนทำให้ปลาพื้นเมืองบางชนิดอาจสูญพันธุ์ในที่สุด ในการซื้อมาเพื่อทำความสะอาดตู้ปลา ยังมีปลาพื้นเมืองชนิดอื่น ๆ ที่สามารถทำความสะอาดตู้ปลาได้เช่นกัน เช่น ปลาลูกผึ้ง ซึ่งหากประชาชนมีความเข้าใจเช่นนี้ คาดว่าน่าจะเลิกซื้อปลาซัคเกอร์มาเลี้ยง หรือใครที่เลี้ยงอยู่แล้วก็ไม่นำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะอีก ทั้งนี้ กรมประมงได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นแล้ว โดยจัดโครงการนำปลาซัคเกอร์มาแลกเปลี่ยนเป็นปลาสวยงาม กล่าวคือ ประชาชนสามารถนำปลาซัคเกอร์ที่เลี้ยงอยู่ หรือที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมาแลกเปลี่ยนเป็นปลาสวยงามอื่น ๆ ได้ เช่น ปลาลูกผึ้ง ปลาคาร์ป ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง ปลาหางนกยูง หรือแลกเปลี่ยนเป็นปลาเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ เช่น ปลานิล เป็นต้น โดยสามารถติดต่อได้ที่กรมประมง และหน่วยงานในสังกัดกรมประมงทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีประชาชนได้ติดต่อขอแลกปลาแล้วจำนวนมาก นอกจากนี้ กรมประมงยังได้จัดหน่วยเฉพาะกิจออกพื้นที่เพื่อให้ความรู้เรื่องปลาซัคเกอร์แก่ผู้ขายพันธุ์ปลา ตลอดจนจะมีการเชิญผู้เพาะเลี้ยงและผู้ขายพันธุ์ปลาเข้าร่วมอบรมเพื่อทำความเข้าใจในธรรมชาติและอันตรายของปลาซัคเกอร์ด้วย
(2) แผนระยะกลาง : ในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ กรมฯ จะวิจัยศึกษาข้อมูลเชิงลึกทางชีววิทยาของปลาซัคเกอร์ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้ออกมาตรการควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
(3) แผนระยะยาว : ถ้าการใช้มาตรการข้างต้นไม่ได้ผลอาจมีมาตรการควบคุมทางกฎหมาย เช่น อาจมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนด ห้ามปล่อยสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (เช่น ปลาซัคเกอร์ เต่าญี่ปุ่น ปลาปากจระเข้ เป็นต้น) ลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
ในส่วนของปลาซัคเกอร์ในประเทศไทยมีการนำเข้ามาในประเทศเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบันกรมประมงมีนโยบายควบคุมการนำเข้า คือจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมงก่อน ซึ่งจะมีการอนุญาตเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ที่มีการแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ เกิดจากปลาซัคเกอร์ที่มีผู้เพาะเลี้ยงไว้ขายเป็นปลาสวยงามจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ทั้งชนิดที่ไม่มีราคา (ปลาเทศบาล) และชนิดที่ราคาสูง เช่น ซัคเกอร์ลาย หรือ ซัคเกอร์แฟนซี เนื่องจากเป็นที่นิยมนำไปทำความสะอาดตู้ปลา อีกทั้งมีบางกลุ่มนิยมนำมาปล่อยเพื่อทำบุญ โดยเฉพาะปลาเทศบาล ทั้งนี้ ปลาในกลุ่มซัคเกอร์มิได้เป็นสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง รวมถึงมิได้เป็นสัตว์น้ำอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ ตามกฎหมายจึงไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ครอบครองหรือค้าได้
เช่นเดียวกับปลานีโม หรือ ปลาการ์ตูน ที่มิได้เป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งในธรรมชาติปัจจุบันเหลือจำนวนน้อยลงทุกที โดยมีการกำหนดห้ามจับในเขตอุทยานแห่งชาติและในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ณ ด่านตรวจสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ห้ามจับ อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้รณรงค์อย่าไปจับจากธรรมชาติ แต่ได้ส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศแทน ซึ่งปัจจุบันนี้มีฟาร์มเอกชนหลายแห่งที่สามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ได้ดี ในส่วนที่มีการจำหน่ายที่ตลาดปลาสวยงามบางแห่งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการอนุญาตนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=52078&NewsType=2&Template=1