ช่วยเกษตรกรด้วยปุ๋ยยูเรียนำเข้าราคาถูก
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 51
ช่วยเกษตรกรด้วยปุ๋ยยูเรียนำเข้าราคาถูก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโครง การนำเข้าปุ๋ยยูเรียขึ้นโดยได้ทำพิธีปล่อยขบวนคาราวานปุ๋ยยูเรียสู่เกษตรกรไปแล้ว เมื่อวันก่อน ณ ศูนย์ธุรกิจเกษตรอยุธยา ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้เนื่องจากในวงจรการเพาะปลูกพืชในปัจจุบัน ปุ๋ยยังมีความจำเป็นต่อการปลูกพืชทุกชนิด เพื่อให้พืชได้รับปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอแก่การเจริญเติบโต ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของตลาด แต่เนื่องจากราคาปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา จวบจนปัจจุบันปุ๋ยสูตร 46-0-0 มีราคาขายในท้องตลาดถึงตันละประมาณ 26,000 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยเคมีและเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรได้ซื้อปุ๋ยในราคายุติธรรม และเป็นการพยุงราคาปุ๋ยในท้องตลาดไม่ให้มีราคาสูงเกินไป ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการจัดหาปุ๋ยเคมีนำเข้าจากต่างประเทศขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ นำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง ในวงเงิน 300 ล้านบาท โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์กู้เงินปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร และมอบให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เป็น ผู้นำเข้าและจำหน่ายให้เกษตรกร โดยผ่านสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งจะต้องส่งใช้เงินคืนให้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ภายในเดือนพฤษภาคม 2552 และเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ทางชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 กับบริษัท PETRONAS FERTI LIZER (KEDAH) SDN. BHD. ที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าของ จำนวน 100,000 ตัน ซึ่งขณะนี้ได้นำเข้าลอตแรกจำนวน 10,0000 ตัน และเก็บไว้ที่โกดังศูนย์ธุรกิจเกษตรอยุธยา เพื่อบรรจุลงกระสอบจำหน่ายให้กับสถาบันเกษตรกรต่อไป
โดยราคาจำหน่ายให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรจะอยู่ที่ราคาตันละ 16,500 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาดในปัจจุบันประมาณ 7,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้ ทางสถาบันเกษตรกรจะได้รับค่าใช้จ่ายในการจัดการตันละ 400 บาท พร้อมกันนี้ ยังมีเป้าหมายเพิ่มเติมด้วยว่าหากการดำเนินงานในรอบแรกได้ผลดีก็จะใช้เงินที่เหลืออยู่ดำเนินการในรอบต่อ ๆ ไปอีกด้วย หรืออาจจะขอให้มีการขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปอีก เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร
สำหรับการพิจารณาจัดสรรปุ๋ยดังกล่าวนี้ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำหน้าที่ในการพิจารณาจัดสรรปุ๋ยให้แต่ละจังหวัดตามสัดส่วนพื้นที่ทำการเกษตร รวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมเป็นลำดับแรก ซึ่งมีการเริ่มจำหน่ายให้เกษตรกรมาตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป และเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ โดยที่เกษตรกรสามารถสั่งซื้อได้ไม่เกินคนละ 1 ตัน ที่ราคาตันละ 16,500 บาท
อย่างไรก็ตามเป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่า การจัดทำโครงการซื้อปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นแต่ประการใด ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯนั้น ยังคงมีนโยบายที่จะลดการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น โดยดำเนินงานภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการจัดตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ วาระเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โครงการใช้ระบบสหกรณ์พัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้พึ่งพาตนเองได้ภายใต้โครงการการมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมของประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมสนับสนุนให้สหกรณ์ผลิตเกษตรอินทรีย์และผลิตสินค้าปลอดภัย ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น
แต่ในทางปฏิบัติโดยภาครวม เกษตรกรจำนวนไม่น้อยยังนิยมใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกอยู่ และด้วยสภาวการณ์ที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงยังมีความจำเป็นต่อการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในระดับเฉพาะหน้าที่ยังควรจะต้องดำเนินการแบบควบคู่กับโครงการเพื่อก่อให้เกิด การลดละแล้วก็เลิกการใช้ปุ๋ยเคมีตามโครงการต่าง ๆ ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำขึ้นมาเพื่อรณรงค์ในที่สุดนั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=184856&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น