ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติ มนต์เสน่ห์ของชาวไร่ฝ้ายยุคใหม่
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 51
ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติ มนต์เสน่ห์ของชาวไร่ฝ้ายยุคใหม่
ปัจจุบันแม้สิ่งทอจากเส้นใยประดิษฐ์จะได้รับความนิยมมากขึ้นก็ตาม แต่สิ่งทอที่เป็นเส้นใยธรรมชาติจากฝ้ายก็คงมีเสน่ห์เป็นที่ต้องการของตลาดไม่เคยเสื่อมคลาย ในทางตรงข้ามกลับขยายตัวเข้าไปสู่หัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้าน กลายเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
ความต้องการฝ้ายเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่การปลูกฝ้ายของประเทศกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตฝ้ายของประเทศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีเพียง 5% ของความต้องการใช้ภายในประเทศเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้นำเข้าฝ้ายมากที่สุดของโลก โดยมีการนำเข้าถึงประมาณ 400,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ปลูกฝ้ายลดลง คือ การระบาดของแมลงศัตรูฝ้ายโดยเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้าย ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น อ้อย และ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่ายกว่า แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าแทน
ดังนั้นหากจะจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกฝ้ายอีกครั้ง จะต้องเพิ่มมูลค่าให้กับฝ้าย และก็เป็นเหตุผลที่กรมวิชาการเกษตร ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ให้ศูนย์วิจัยพืชไร่ นครสวรรค์ ทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หรือหัตถกรรมสิ่งทอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงามและมีความทันสมัยดึงดูดใจผู้บริโภค
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวย การสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ได้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ฝ้ายของไทยให้มีคุณภาพเส้นใยที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่สีตามธรรมชาติของเส้นใย สำหรับเป็นทางเลือกใหม่ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตฝ้ายให้แก่เกษตรกร และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลอดจนยกระดับหัตถกรรมสิ่งทอของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ล่าสุดศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว ซึ่งเป็นฝ้ายคุณภาพดีสีธรรมชาติประเภทเส้นใยยาว มีความต้านทานต่อโรคใบหงิก แต่จะไม่ต้านทานต่อหนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้นอกจากจะได้สายพันธุ์ฝ้ายที่มีเส้นใยสีสวยงามตามธรรมชาติแล้ว ยังจะทำให้ได้ฝ้ายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีสารฟอกย้อม จึงสามารถลดมลพิษทางน้ำจากสารฟอกย้อมได้
นอกจากนี้เมื่อนำไปทอเป็นผ้าแล้ว ยังมีความนิ่ม สวมใส่แล้วรู้สึกสบาย และเมื่อนำไปซักแล้วตากในที่ร่มสีเขียวจะเข้มขึ้น รวมทั้งยังเหมาะที่จะนำไปเพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
ดร.ปริญญา สีบุญเรือง นักวิชาการเกษตร 8ว. ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ซึ่งเป็นผู้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2543 โดยได้ทำการวิจัยพันธุ์ฝ้ายดังกล่าว 2 สีด้วยกันคือ สีเขียว และสีน้ำตาล แต่ที่ประสบผลสำเร็จได้สายพันธุ์แล้ว เป็นพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว
“ได้ทำการผสมพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 2 กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว เป็นคู่ผสมที่ 1 และทำการผสมพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 2 กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาล เป็นคู่ผสมที่ 2 ในปี 2543 และทำการผสมกลับ 4-5 ชั่ว ระหว่างปี 2545-2546 โดยในการผสมกลับแต่ละครั้งจะทำการเก็บเกี่ยวเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียวในคู่ผสมแรก และ ให้เส้นใยสีน้ำตาลในคู่ผสมที่ 2 จากนั้นทำการปลูกคัดเลือกเพื่อให้ได้ฝ้ายสายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะเหมือนพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่โดดเด่นกว่า คือมีเส้นใยสีเขียว 1 พันธุ์ และสีน้ำตาลอีก 1 พันธุ์ เพื่อนำไปประเมินผลผลิต และการยอมรับของเกษตรกรตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแนะนำและเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรต่อไป” ดร.ปริญญา สีบุญเรือง กล่าว
ถึงแม้ว่าพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติ ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาพันธุ์ก็ตาม ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้ทำการทดสอบความต้องการของตลาดและการยอมรับของเกษตรกรควบคู่ไปด้วย เพื่อนำข้อมูลที่ได้กลับมาพัฒนาพันธุ์ฝ้ายให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรและผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว ซึ่งได้สายพันธุ์ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแล้ว
ณ วันนี้ พันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติ ยังอยู่ในขั้นตอนการประเมินผลผลิต ยังไม่ได้เผยแพร่สู่เกษตรกร แต่อีกไม่นานจะออกสู่แปลงเกษตรกรแน่นอน
ในอนาคตการปลูกฝ้ายแปลงเล็ก ๆ เพียงไม่กี่ไร่ ของเกษตรกรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าฝ้ายทอมือสีธรรมชาติ อันมีลวดลายสวยสด งดงาม มีสีเขียวของเส้นใยฝ้าย สอดสลับกับสีน้ำตาลจากธรรมชาติ จะเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายพื้นบ้านของไทย ที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกฝ้ายกันอีกครั้งหนึ่ง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=184972&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น