เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 51
ปัจจุบันการปลูกพืชฤดูหนาวของประเทศไทย โดยเฉพาะทางเหนือมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนไทยมีพืชฤดูหนาวทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ต่างประเทศรับประทานกันตลอดทั้งปี
นอกจากฤดูหนาวจะทำให้ผลผลิตพืช ผัก และไม้ดอก มีคุณภาพดีแล้ว แต่ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังก็คือ โรคพืชในฤดูหนาว ที่จะส่งผลกระทบด้านราคาความเสียหายของผลผลิตให้แก่เกษตรกรทั่วถึงทุกพื้นที่ทั้งพืชพื้นเมืองและพืชเศรษฐกิจ
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้คำแนะนำถึงการป้องกันโรคพืชที่จะเกิดขึ้นในอากาศหนาวว่า ช่วงที่อากาศเย็นลงในฤดูหนาวนั้น สิ่งที่จะได้รับผลกระทบกับอากาศเย็นก็คือพืช ผัก และไม้ดอก ที่จะมีโอกาสเกิดโรค ในผักจะมีโรคราน้ำค้าง ส่วนไม้ดอกก็จะมีปัญหาเรื่องราสนิมในเบญจมาศตัดดอก และราแป้งในกุหลาบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะใน อ.พบพระ จ.ตาก
ส่วนภาคกลาง ในฤดูหนาวพืชที่จะได้รับผลกระทบกับอากาศเย็นจะพบกับการเกิดโรคราน้ำค้าง โดยพืชที่ประสบกับโรคนี้ได้แก่ พืชจำพวกแตง พืชในตระกูลผักกะหล่ำ องุ่นและข้าวโพดหวานที่มีโอกาสเกิดโรคได้บ้างเช่นกัน นอกจากนี้กลุ่มนาข้าวก็พบอาการของโรคเน่าคอรวง ที่พบในช่วงที่ความชื้นยังคงมีอยู่ในขณะที่ข้าวออกรวงและช่วงที่ข้าวใกล้แก่ก็อาจมีปัญหาเรื่องเมล็ดด่างได้ด้วย
ด้าน ดร.ศรีสุข พูนผลกุล นักวิชาการโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชยังฝากถึงเกษตรกรว่าจากสาเหตุของโรคพืชในฤดูต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกษตรกรควรให้ความสำคัญ หากป้องกันไว้ก่อนก็จะทำให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นลดน้อยลงได้ อีกอย่างเกษตรกรควรกระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค และปัญหาด้านราคาไปพร้อมกัน นอกจากนั้นเกษตรกรควรจะลดการใช้ปุ๋ยยูเรียโดยหันมาใช้สูตรเสมอ ซึ่งเป็นสูตรที่ดีและเหมาะสมต่อการปลูกพืชผัก เนื่องจากการใช้ยูเรียมากไปจะส่งผลให้พืชอ่อนแอแล้วมีอัตราการเกิดโรคได้ง่ายขึ้น
สำหรับเกษตรกรท่านใดที่สนใจข้อมูลด้านโรคพืชชนิดต่างๆ เพิ่มเติม หรือต้องการส่งตัวอย่างพืชให้ตรวจวิเคราะห์สามารถติดต่อได้ที่คลินิกพืช กรมวิชาการเกษตร เบอร์โทร.0-2579-9581-5 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 15 ธันวาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/12/15/x_agi_b001_324349.php?news_id=324349