เมื่อวันที่ 28 มกราคม 51
โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 3 ปีนี้ น่าจะเพิ่มผลผลิตกุ้งทั้งหมดได้ และปรับเปลี่ยนการเลี้ยงกุ้งจากกุ้งขาวมาเป็นกุ้งกุลาดำให้มากขึ้น
โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2552 จะมีผลผลิตกุ้งทั้งหมด 5 แสนตัน โดยเป็นผลผลิตจากกุ้งขาวร้อยละ 75 จากกุ้งกุลาดำร้อยละ 15 และที่เหลือมาจากกุ้งก้ามกราม คาดว่าจะทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 1 แสนล้านบาท การที่จะบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ได้จะต้องมีการพัฒนาด้านต่างๆ คือต้องมีพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่มีคุณภาพและปลอดโรคป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง มีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของอาหารเลี้ยงกุ้ง และการจัดการต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคกุ้ง รวมทั้งเน้นเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยใช้ระบบสืบย้อนกลับ (traceability) ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้แล้ว
วิธีการที่จะใช้ในการสร้างพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพก็คือพยายามพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้งให้เป็นสัตว์เลี้ยงให้ได้ โดยการนำพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากทะเลลึกมาผลิตลูกกุ้ง แล้วนำลูกกุ้งไปเลี้ยงต่อในบ่อดินอีกประมาณ 1-1.5 ปี จนโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ใหม่ซึ่งเติบโตขึ้นมาในบ่อดิน แล้วเอาพ่อแม่พันธุ์เหล่านี้ไปผสมข้ามกับพ่อแม่พันธุ์ที่มาจากแหล่งเลี้ยงอื่นเพื่อให้เกิดความหลากหลาย
จนกระทั่งได้ลูกและนำไปเลี้ยงให้เติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ใหม่อีกในรุ่นต่อๆ ไปแล้วจึงคัดเลือกโดยการทดสอบว่าพ่อแม่พันธุ์ใดที่มีลักษณะดีตรงตามความต้องการ ก็จะคัดมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไปเพื่อขายให้แก่โรงเพาะฟัก แทนที่จะต้องไปจับจากทะเลเหมือนแต่ก่อน หากทำได้สำเร็จตามแผนที่ว่านี้ก็น่าจะลดปัญหาการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพได้
ผลงานที่ผ่านมาของ สวทช. ซึ่งได้สร้างความชำนาญในการเพาะเลี้ยงกุ้งให้ได้พ่อแม่พันธุ์จากบ่อดินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนนี้กว่า 10 ปีแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทดสอบเทคโนโลยีในระดับฟาร์มของเกษตรกร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีและยอมรับสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมา
ตอนนี้มีโรงเพาะฟักเอกชนเข้ามาร่วมโครงการและมีการทดสอบการเพาะฟักไปแล้วได้ลูกกุ้งเกือบ 10 ล้านตัว ซึ่งเกษตรกรที่รับไปเลี้ยงต่อก็ค่อนข้างพอใจกับคุณภาพของลูกกุ้ง โดยรวมแล้วผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1 ตันต่อไร่ มีขนาดประมาณ 45-50 ตัวต่อกิโลกรัมเมื่อเพาะเลี้ยงประมาณ 5-5.5 เดือน นั่นก็แสดงว่าการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในบ่อดิน ก็สามารถให้ลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
ส่วนเรื่องโรคนั้น ก็ได้พัฒนาชุดตรวจสอบอย่างง่ายรวดเร็ว รวมทั้งพยายามเสริมขีดความสามารถของหน่วยบริการวิเคราะห์ทดสอบโรคที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้มีความเข้มแข็งและรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมด้านนี้ให้ได้ในอนาคต ตอนนี้ชุดตรวจสอบต่างๆ พัฒนาขึ้นมาจนมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ
อย่างเช่นชุดตรวจโรคชนิด strip test ที่ใช้ได้ง่ายด้วยตัวเกษตรกรเองโดยหยดตัวอย่างจากกุ้งที่ต้องการทดสอบลงในตลับชุดตรวจและอ่านผลจากแถบสีภายในเวลา 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งราคาก็ถูกกว่าเทคนิคแบบเดิมคือเทคนิคพีซีอาร์ วิธีการนี้น่าจะช่วยให้เกษตรกรลดความเสียหายจากโรคกุ้งลงได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเทคนิคอื่นอีกหลายอย่างซึ่งโอกาสหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 มกราคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/01/28/x_agi_b001_187424.php?news_id=187424