เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 51
โรงสีข้าวพิกุลทองภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ไม่เพียงแค่โรงสีข้าวที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านเท่านั้น ยังเป็นโรงสีข้าวที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงห่วงใยและมีพระราชประสงค์ช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนมีขนาดกำลังการ
ผลิต 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งบริษัท SATAKE ได้ทูลเกล้าฯถวาย เพื่อจัดสร้างตามศูนย์ศึกษาการพัฒนาในภาคต่างๆสนองแนวพระราชดำริที่ทรงมีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือราษฎรในลักษณะธนาคารข้าว และ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ได้ประทานชื่อโรงสีแห่งนี้ว่า โรงสีข้าว พิกุลทอง ซึ่งสำนักงานกปร.ได้สนับสนุนงบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นเงิน 1,598,874 บาท
วาณิชเจนรักสุขุม สหกรณ์จังหวัดนราธิวาสกล่าวถึงโรงสีข้าวพิกุลทองว่า มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่รับฝากข้าวเปลือก โดยทำหน้าที่เหมือนธนาคารข้าว รับจ้างสีข้าว ตลอดจนรวบรวมผลผลิตขายให้แก่พ่อค้า โดยเกษตรกรที่มาใช้บริการจะได้รับคืนกำไรเฉลี่ยปลายปี ขณะเดียวกันก็ได้ทำหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การสีข้าว ตลอดจนการขาย ซึ่งต่อมาเกษตรกรผู้ใช้บริการโรงสีข้าวในท้องที่ ต.เกาะสะท้อน และต.พร่อน อ.ตากใบ ได้รวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตร่วมกัน
ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและควบคุมการดำเนินงานภายในโรงสีข้าวพิกุลทอง ในเบื้องต้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนสำหรับใช้ในการดำเนินงานภายในโรงสีข้าวเป็นเงิน 52,400 บาท จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันมีสมาชิก 175 คน มีเงินฝากธนาคาร759,603.08 บาท ทุนสหกรณ์ 763,113.66 บาท ในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างกำไรสุทธิเป็นจำนวนเงิน 14,380 บาท
"การดำเนินงานโรงสีข้าวพิกุลทอง แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ การรับจ้างสีข้าว ซึ่งจะคิดค่าสีข้าวตามอัตราโรงสีเอกชน โดยคณะทำงานเป็นผู้กำหนด ส่วนผลพลอยได้จะตกเป็นของโรงสีข้าว เพื่อเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ใช้บริการปลายปี รายได้จากการสีข้าวหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะจ่ายคืนให้แก่ผู้ใช้บริการ สำหรับข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาสี หากมีจำนวนน้อย เกษตรกรสามารถขอแลกเปลี่ยนเป็นข้าวสารได้"
สหกรณ์จังหวัดนราธิวาสกล่าวถึงกิจกรรมของโรงสีข้าวพิกุลทองนอกจากใช้สีข้าวแล้วยังมีการรับฝากข้าว โดยจะเปิดรับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งผู้ที่นำข้าวมาฝากจะขอคืนในรูปของข้าวเปลือกหรือข้าวสารก็ได้ และกิจกรรมสุดท้ายคือ การบริหารงานภายในโรงสีข้าวพิกุลทอง จะมีนักวิชาการสหกรณ์จากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาสเข้ามาช่วยดูแล แนะนำส่งเสริม ในช่วงสถานการณ์ปกติ และโรงสีข้าวยังสามารถใช้งานได้เต็มกำลังการผลิต มีเกษตรกรนำข้าวมาใช้บริการสีข้าวเฉลี่ยวันละ 12 ราย ปริมาณข้าว 13,820 กิโลกรัมต่อปี
โรงสีข้าวพิกุลทองนับเป็นอีกหนึ่งโครงการตัวอย่างที่ดี ที่จะทำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติสู่หลักการรวมกลุ่มชาวบ้านในชุมชนเพื่อการพึ่งพาตนเอง ร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ และร่วมสร้างสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 16 ธันวาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/12/16/x_agi_b001_325291.php?news_id=325291