โอกาสของมะม่วงไทยในตลาดญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 51
โอกาสของมะม่วงไทยในตลาดญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าผลไม้สด ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จากการรายงานของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโตเกี่ยว แจ้งว่าเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมาญี่ปุ่น มีการนำเข้าถึงผลไม้ถึง 1.8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 83,000 ล้านบาท ผลไม้ที่นำเข้าที่สำคัญนอกจากกล้วยหอม ส้ม กีวี อไวกาโด องุ่น เชอรี่ มะละกอ แล้วนั้นคือมะม่วง ซึ่งมีประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ในขณะที่ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตมะม่วงได้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดรของเกษตรกรชาวสวนมะม่วงพัฒนาการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น
สำหรับมะม่วงญี่ปุ่นอนุญาตการนำเข้ามะม่วงจากประเทศไทย โดยต้องผ่านการอบไอน้ำเพื่อกำจัดแมลงวันและไข่แมลงวันผลไม้ ต่อมาในปี 2536 ได้มีการเพิ่มชนิดมะม่วงที่อนุญาตให้นำเข้า อีก 3 พันธุ์ นอกเหนือจากพันธุ์หนังกลางวัน ได้แก่ แรด พิมเสนแดง น้ำดอกไม้ ล่าสุดเมื่อปลายปี 2549 กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น อนุญาตการนำเข้ามะม่วงมหาชนก เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2549 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ส่วนยอดการส่งออกมะม่วงของไทยไปประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2548 ส่งออกจำนวน 955 ตัน ปี 2549 จำนวน 1,127 ตัน คิดเป็นมูลค่า 163 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 1,600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 294 ล้านบาท มีส่วนแบ่งทางการตลาด 12.0% รองจากประเทศเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด 40.5% และ 31.1% ตามลำดับ
นายจรัลธาดา กรรณสูตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กุญแจแห่งความสำเร็จสำหรับการส่งออกผลไม้อันรวมถึงมะม่วงไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางอาหารที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ระดับฟาร์ม การปฏิบัติตามหลักของระบบเกษตรที่ดีเหมาะสมสากล รวมถึงเป็นไปตามมาตรฐานสารตกค้างของญี่ปุ่นแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลผลิตที่มีความสม่ำเสมอ มีปริมาณตามข้อตกลง ส่งมอบทันเวลา และราคายุติธรรม ซึ่งเป็นหลักการทำงานของเทคโนโลยีการผลิตและส่งมอบแบบทันเวลา หรือ "Just in Time" ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความสูญเปล่าในการผลิตให้กับเกษตรกรในส่วนของการผลิตสินค้ามากเกินความต้องการ รวมไปถึงลดการผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และการขนส่งวัตถุดิบหรือสินค้าในระยะทางที่มากเกินไป ตลอดจนลดปัญหาการมีวัตถุดิบหรือสินค้าคงคลังมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ลดปัญหาของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตได้อีกด้วย
"เทคโนโลยี Just in Time นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรแล้ว ยังฝึกหัดให้เกิดการผลิตอย่างเป็นระบบ สินค้าอยู่ในระดับคุณภาพมาตรฐานที่นานาชาติยอมรับ ไม่ตกเกรด มีการสืบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม (Certified by 3rd party) สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและคู่ค้าทั้งญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ รวมถึงผู้บริโภคชาวไทยอีกด้วย ซึ่งคาดว่าหากถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้เกษตรกรมีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญแล้ว จะช่วยให้ยอดการส่งออกมะม่วงไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,000 ตัน / ปี ได้อย่างแน่นอน"
นางสาวศิริลักษณ์ สุวรรณรังษี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร)สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกี่ยว กล่าวว่า ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การส่งออกมะม่วงในปีแรกจำนวน 2 ตัน หน่วยงานราชการและผู้ประกอบการไทยในประเทศญี่ปุ่น ผู้ประกอบการในญี่ปุ่น และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ได้ผลักดันการเข้าสู่ตลาดของมะม่วงไทย ด้วยการแก้ปัญหามาตรฐานคุณภาพในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดมะม่วงไทยในญี่ปุ่น จนมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยเฉพาะน้ำดอกไม้สีทองเป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยม ตลาดมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ามะม่วงชนิดอื่นๆ จากไทย ปัจจุบันมีปริมาณนำเข้าสูงถึง 1,300 ตัน
อย่างไรก็ดี การทำตลาดผลไม้ในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะต้องคำนึงถึงความพอใจและรับฟังข้อคิดเห็นของลูกค้า รวมถึงสี รูปลักษณ์ คุณค่าเหมาะสมกับราคาหรือความสดของผลผลิตที่ออกตรงตามฤดูกาล และการนำเสนอสินค้าให้มีลักษณะโดดเด่น มีคุณภาพน่าเชื่อถือ รวมถึงการให้ข้อมูลวิธีการปอก ตัด และการรับประทานแก่ผู้บริโภค รวมถึงจัดการส่งเสริมการตลาดที่ดีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ล้วนมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อผลไม้ของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงช่วงเวลาในการส่งสินค้าถึงผู้บริโภคในญี่ปุ่นให้ตรงกับเวลาที่ต้องการ และการควบคุมความสุกในแต่ละสภาวะการขนส่ง ทั้งนี้ ชาวญี่ปุ่นเริ่มคุ้นเคยกับ Yellow Mango จากไทยมากขึ้น จากเดิมที่รู้จักแต่ มะม่วง sunset และ Apple Mango ซึ่งมีผิวสีแดง เนื้อสีเหลืองจัด รสหวานอ่อนๆ และมีกลิ่นหอมฉุนเล็กน้อย และมะม่วงเหลืองจากฟิลิปปินส์ที่มีผลขนาดเล็กและรสหวานอมเปรี้ยว
อย่างไรก็ตามจนถึงปี 2550 มะม่วงมหาชนกได้เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งมีสีผิวและรสชาติคล้ายกับมะม่วงแดงที่เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น โดยหน่วยราชการไทยในญี่ปุ่นได้ทำการประชาสัมพันธ์ แจกชิม นำจำหน่ายและเผยแพร่เป็นกรณีพิเศษ ในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 120 ปีไทยและญี่ปุ่น ทั้งเทศกาลไทย ในกรุงโตเกียว และนาโกยา การจัด In Store Promotion ร่วมกับร้านสะดวกซื้อต่างๆ เพื่อสร้างความนิยม ซึ่งปรากฏว่ารสชาติเป็นที่ถูกใจ และราคายังถูกกว่ามะม่วงในประเทศ ผู้บริโภคทั่วไปต่างให้ความสนใจ การนำเข้ามะม่วงสด จากไทยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปีโดยในปี 2549 ปริมาณนำเข้า 1,099 ตัน หรือเพิ่มร้อยละ 45 และมูลค่า 163 ล้านบาท หรือเพิ่มร้อยละ 15 และในปี 2550 นำเข้าปริมาณ 1,566 ตัน มีมูลค่า 294 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนแรกของปี 2551 มีการนำเข้ามะม่วงสดจากไทย 1,253 ตัน มูลค่า 221 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะเกิน 2,000 ตันอย่างแน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 16 ธันวาคม 2551
http://www.naewna.com/news.asp?ID=138706
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น