ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เพิ่ม เสริมการพึ่งพาตนเอง
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 51
ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เพิ่ม เสริมการพึ่งพาตนเอง
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดสุรินทร์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมด้านการเกษตรยั่งยืน ร่วมกับ กลุ่มเกษตรธรรมชาติ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ “โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้าน” โดยการสำรวจข้อมูลพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน รวบรวมจัดเก็บพัฒนา และขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ลดการนำเข้าหรือซื้อเมล็ดพันธุ์จากเอกชน และช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้
โครงการนี้จะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรไทยในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากเอกชนหรือบริษัทข้ามชาติซึ่งมีราคาแพง และต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยา ในปริมาณที่สูง ทำให้เกษตรกรต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก ข้อดีอย่างแรกก็คือชาวบ้านได้กินข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สองคือลดต้นทุนการผลิตเพราะพันธุ์ข้าวพื้นบ้านส่วนใหญ่ถูกปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพนิเวศของท้องถิ่น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี
นายอารัติ แสงอุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สุรินทร์ เผยว่า ทางคณะทำงานมีแนวทางในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรยั่งยืนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ด้วยการปลูกพืชที่หลากหลาย ให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้โดยใช้พันธุกรรมในท้องถิ่นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับชุมชน ซึ่ง ต.ทมอ อ.ปราสาท เป็นเครือข่ายเกษตรกรแห่งแรกที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์” ได้เป็นผลสำเร็จ โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้กว่า 35 ครอบครัว ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวถึง 15 ครอบครัว มีพื้นที่ใช้ในการคัดและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ประมาณ 60 ไร่ สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับสมาชิก
“ทุกวันนี้ชาวบ้านมีบท บาทในการจัดการพันธุ์ข้าวของตนเองน้อยลงทุกทีตามนโยบายด้านการเกษตรแผนใหม่ ซึ่งทำให้มีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงขึ้น หากชาวบ้านผลิตและพัฒนาพันธุ์ข้าวได้เองผลที่ได้ก็คือประหยัดค่าใช้จ่าย เกษตรกรมีความสามารถในการคัดและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นให้เป็นข้าวที่มีคุณภาพ ทำให้ขายข้าวได้ในราคาที่ดี นอกจากนี้ชาวบ้านก็ยังสามารถขายเมล็ดพันธุ์ให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนได้ และยังทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรในท้องถิ่นกลับคืนมาสู่ชุมชน” นายอารัติกล่าว
ด้าน นายภาคภูมิ อินทร์แป้น เกษตรกรนักพัฒนาพันธุ์ข้าว บ้านโดนเลงใต้ ต.ทมอ เล่าให้ฟังว่าได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเกษตรกรรมทางเลือกมาตั้งแต่ปี 2543 มีอาชีพหลักคือทำนาปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวใช้เองทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ ได้กินอาหารที่ปลอดภัย และช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยและสารเคมี ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่กำลังปลูกและพัฒนาอยู่ทั้งสิ้น 23 สายพันธุ์
“สมัยก่อนต้องเสียเงินซื้อพันธุ์ข้าว ซึ่งข้าวที่ได้มาก็ไม่บริสุทธิ์มักมีพันธุ์ข้าวอย่างอื่นปะปนมา พอมาทำพันธุ์ข้าวใช้เองข้อดีก็คือลดค่าใช้จ่าย และแก้ปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวอื่นปนได้ ซึ่งการพัฒนาพันธุ์นั้นชาวบ้านสามารถทำเองได้และน่าจะทำได้ดีกว่าภาครัฐด้วยซ้ำ ที่สำคัญยังสร้างให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักในการพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องถูกผูกขาดเรื่องเมล็ดพันธุ์จากเอกชนหรือรัฐบาล” นักพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกล่าว
ท่ามกลางปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก พันธุ์ข้าวพื้นบ้านถือว่าเป็นความมั่นคงด้านอาหารของชาติ เพราะในปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติหลายรายเข้ามามีบทบาทในการครอบครองปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ชาวบ้านจะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้และพัฒนาต่อไป
ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็เปรียบเสมือนเป็นฐานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นมรดกทางทรัพยากรและภูมิปัญญาของชาติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=185293&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น