เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 51
พื้นที่ของจังหวัดแพร่โดยส่วนใหญ่จะปลูกส้ม ลำไย ซึ่งระยะหลังเกษตรกรเริ่มพบกับปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาโรคกรีนนิ่งทำให้ต้นส้มเสื่อมโทรม ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
ศูนย์วิจัยพืชสวนแพร่ กรมวิชาการเกษตร จึงจัด โครงการส่งเสริมปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ขึ้น เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรบ้านปากห้วย ต.วังธง อ.เมืองแพร่
นายรณรงค์ คนชม นักวิชาการเกษตร 6 ศูนย์ วิจัยพืชสวนแพร่ บอกว่า เพื่อเป็นทางเลือกเกษตรกรที่ประสบปัญหาทางศูนย์วิจัยฯจึงหาพืชที่ให้ผลผลิต ได้เร็ว สามารถปลูกเสริมในแหล่งเดิมได้โดยที่ เกษตรกรจะไม่ล้มสวน (การโค่นต้น) ส้มทั้งหมดในคราวเดียว แต่ ค่อยๆปรับเปลี่ยนปลูกแซม จึงเล็งมองไปที่มะละกอ ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
อีกทั้งยังมีความทนทานโรคไวรัสใบจุดวงแหวนค่อนข้างดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการ ความดูแลเอาใจใส่ ของเกษตรกรผู้ปลูก เพื่อป้องกันไม่ให้มีพาหะนำโรคโดย เฉพาะเพลี้ยอ่อน เกิดขึ้นในแปลง ที่สำคัญในพื้นที่ดังกล่าวยังมีความต้องการผลิต ผลจำนวนมาก แต่ เกษตรกรยังปลูกอยู่ น้อยราย
นางอรวรรณ โพธิ์คำ ชาวบ้านเลขที่ 66/1 หมู่ 6 ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมโครงการฯ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 2 ปีก่อน ราคารับซื้อผลผลิตลำไยค่อนข้างถูกขายอยู่หน้าสวนกิโลฯละ 5 บาท แต่เนื่องจากต้องลงทุนสูงทำให้ชาวสวนอย่างพวกเราอยู่กันไม่ได้ ประจวบเหมาะกับที่ทางศูนย์วิจัยฯเข้ามาแนะนำให้ลองปลูกมะละกอ
หลังจากตัดสินใจจึงชักชวนเพื่อนบ้านมาเข้าร่วมกันปลูกในพื้นที่นำร่อง ซึ่งดูแลรับผิดชอบครอบครัวละ 1 ไร่ ตลอดเวลาจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยฯเข้ามาให้คำแนะนำ เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเริ่มแรกจะต้องไถดินตากแดด จากนั้นทำร่องขึ้นเป็นแปลงสำหรับปล่อยน้ำให้ไหลตั้งแต่หัวร่องถึงท้ายร่อง ได้ง่าย
ใส่ปุ๋ยคอกรองพื้น และปุ๋ยสูตร 15-15-15 หลุมละ 1 ช้อน นำต้นกล้าซึ่งถุงหนึ่งจะมี 3 ต้น ลงปลูกในช่วงเวลาตอนเย็นที่แดดอ่อน รดน้ำให้ชุ่มทุกวันดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้น เพราะจะทำให้เปลืองปุ๋ย หลัง 3 เดือน เป็นช่วงที่กำลังสร้างต้นจะใส่ปุ๋ยสูตรเดิมอีกครั้ง เมื่อดอกแรกของต้นออกให้สังเกตและเลือกต้นที่มีเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมีย อยู่ด้วยกันในดอกเดียว เราเรียกว่า “ต้นกะเทย” เก็บไว้เพียงต้นเดียว
จากนั้นยังคงให้น้ำไปเรื่อย ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกไหนรูปทรงไม่สวยควรเด็ดทิ้ง หลังจากนั้นประมาณ 8 เดือน ก่อนเก็บผลผลิตควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือที่ชาวบ้านจะเรียกว่า “ปุ๋ยหวาน” อัน เป็นตัวเพิ่มคุณภาพให้มีรสชาติดีขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ 7-10 วัน ก็จะเก็บผลิตผล ซึ่งช่วงที่เหมาะสมกับการเก็บให้ดูที่ความสุกประมาณ 7 เปอร์-เซ็นต์ (เริ่มมีแต้มเหลือง) เพราะว่าเมื่อถึงปลายทางจะสุกกำลังดี
ส่วนขนาดที่ตลาดต้องการ จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 800-2,000 กรัม ซึ่งเกษตรกรที่เข้าโครงการจะโชคดี ที่มีบริษัทเข้ามารับซื้อถึงไร่ โดยให้ราคาหน้าสวน กก.ละ 6 บาท รับซื้อแบบคละเกรด โดย เจ้าของสวนมีหน้าที่เก็บลูกจากต้น และนั่งนับเงินไปอีกนานจนกระทั่ง 3 ปี จึงเริ่มลุพื้นที่และลงกล้ากันใหม่อีกครั้ง...
สำหรับเกษตรกรรายใดที่สนใจ สามารถกริ๊งกร๊างไปได้ที่ โทร. 0-5452-2986, 08-6607-6596 ในวันเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 17 ธันวาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=115448