เมื่อวันที่ 28 มกราคม 51
โรงพยาบาลหลายแห่ง ในสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรป ใช้ผ้าก๊อซที่ผลิตจากเส้นใย “เซลลูโลสชีวภาพ” (Biocellulose) เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดปัญหาสะเก็ดติดออกมากับผ้าขณะชะล้างแผล อีกทั้งยังทำให้บาดแผลของผู้ป่วยหายเร็วขึ้น
บ้านเราก็มีการพัฒนาในวงการแพทย์เช่นกัน ซึ่งโรงพยาบาลบางแห่งได้นำผ้าก๊อซชนิดพิเศษนี้มาใช้บ้างแล้ว โดยนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาจากต่างประเทศ ทำให้เกิดปัจจัยในการเสียดุลการค้า เพื่อลดการนำเข้า เภสัชกร สมบัติ รุ่งศิลป์ และทีมนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงคิดค้นวัสดุปิดปากแผล “เซลลูโลสจากน้ำสับปะรด” ขึ้น ซึ่งมี ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย และ บริษัทไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด ให้การสนับสนุน เส้นใยเซลลูโลสชีวภาพ ผลิตจากเชื้อจุลินทรีย์ชื่อ Acetobacter xylinum ซึ่ง ทำหน้าที่ ขับเส้นใยฯออกข้างลำตัว เพาะในอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีน้ำตาล ในเวลาที่พอเหมาะจะได้ เส้นใยขนาดเล็กกว่าเส้นใยจากพืช100-1,000 เท่า (มีขนาด 1/1,000 เท่า ของเส้นผมมนุษย์) สานถักเป็นแผ่นร่างแห เรียงกันเป็นชั้นๆ และ USFDA ได้จัดให้เซลลูโลสชีวภาพเป็นสารในกลุ่ม GRAS ที่มีความปลอดภัยต่อการบริโภค
เภสัชกร สมบัติ เผยขั้นตอนการวิจัยว่า แรกๆในการวิจัยเคยลองใช้ มะพร้าว แต่เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แผ่นเซลลูโลสที่ได้มีความแข็ง และ หยาบ จึงเปลี่ยนมาเป็น สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ผลโตปริมาณน้ำมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายในจังหวัดพัทลุง นำมาคั้นน้ำ ต้ม ทิ้งให้เย็นเติมเชื้อ A.xylinum ใส่ภาชนะเลี้ยงเชื้อ ใช้เวลาบ่ม 5-10 วัน
จากนั้น นำเข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูปเส้นใยบริสุทธิ์ที่ปราศจากอาหารเลี้ยงเชื้อ สิ่งปลอมปน และจุลินทรีย์ ตามกระบวนการทางกายภาพและเคมี เติมน้ำสะอาด (Deionized) กระทั่งได้แผ่นเซลลูโลสชีวภาพเพื่อใช้สำหรับปิดแผล จากนั้น ทำการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อนจากแรงดันไอน้ำ (autoclave) ที่มีคุณสมบัติสามารถดูดซับน้ำได้ดี มากกว่า 250% ของน้ำหนักมีความชุ่มชื้นสูง ปราศจากสาร “ไพโรเจน” และสารที่เป็นพิษต่อเซลล์มนุษย์ มีความบริสุทธิ์ สีขาว โปร่งแสง มีรูพรุนขนาด 200-300 นาโนเมตร เหนียว แข็งแรง นำแผ่นที่ได้มาทำการตัดแต่งตามลักษณะขนาดผลิตภัณฑ์ที่ต้องการบรรจุซองลามิเนต เข้ากระบวนการปราศจากเชื้อด้วยความร้อนสูง ทิ้งให้เย็น บรรจุใส่ซอง พร้อมทั้งนำไปทดสอบด้านคลินิก โดย ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในผู้ป่วยบาดแผลเฉียบพลันระดับ 2 ของ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
และพบว่า แผ่นเซลลูโลสฯจะมีความเย็น ดูดซับหนองและเนื้อตาย ลดอาการปวด วัสดุไม่ติดแผลขณะแกะออก ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บ และบาดแผลหายเร็วขึ้น ที่สำคัญไม่พบว่ามีผู้ใดแพ้ หรือมีอาการติดเชื้อ บาดแผลไม่เกิดเนื้อตาย รอบแผลไม่เปื่อยแฉะ ระยะเวลาการหายของแผลเฉลี่ย 7.6 วัน (พิสัย 4-13 วัน) ซึ่งเร็วกว่าการใช้ผ้าก๊อซทั่วไป
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า เซลลูโลสชีวภาพสามารถใช้ปิดแผลเพื่อการรักษาแผลเฉียบพลันได้ อย่างปลอดภัย ลดความถี่และค่าใช้ จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อล้างแผลจากเดิมที่ต้องทำทุกวัน และในอนาคตยังมุ่งที่จะพัฒนาแผ่นปิดแผลดังกล่าว ให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้ได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาแผ่นเซลลูโลสบริสุทธิ์ ในรูปของแผ่นมาส์กหน้า และ แผ่นปิดใต้ ขอบตา ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะถูกควบคุมให้มีปริมาณน้ำ และความหนาของแผ่นเซลลูโลสบริสุทธิ์แตกต่างกัน โดยที่แผ่นมาส์กหน้าและแผ่นปิดใต้ขอบตาจะมีปริมาณน้ำสูงกว่าวัสดุปิดบาดแผล
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-1479-1399.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 28 มกราคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=76753