ยอดส่งออกกุ้งขาวลดปรับกลยุทธ์สู้ผลิตกุ้งฝอย เป้าตลาดร้านสาเกในญี่ปุ่นและตลาดล่างในประเทศ
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 51
ยอดส่งออกกุ้งขาวลดปรับกลยุทธ์สู้ผลิตกุ้งฝอย เป้าตลาดร้านสาเกในญี่ปุ่นและตลาดล่างในประเทศ
นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกทรุด ส่งผลให้ออร์เดอร์การส่งออกกุ้งเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ ปี 52 ลดลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคากุ้งในประเทศไทย ทำให้ราคาไม่มีเสถียรภาพ ขึ้น-ลงอยู่ตลอดเวลา ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงเตรียมการเรื่องนี้เพื่อที่จะให้ราคากุ้งเสถียรให้ได้ โดยมีทางแก้ 2 วิธี คือ เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงกุ้งจากแบบปกติมาเป็นการเลี้ยงแบบชีวภาพ และผลิตกุ้งฝอยทะเลขนาดประมาณ 600-700 ตัวต่อกิโลกรัม
“กุ้งชีวภาพเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก และตลาดก็จะเป็นทางยุโรป ญี่ปุ่น โดยราคาเราจะเป็นผู้กำหนดซึ่งจะได้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์ และเป็นราคาที่แน่นอนรู้ล่วงหน้า แต่เนื่องจากตลาดต่างประเทศไม่แน่นอน เราก็มามองตลาดในประเทศ คือ 10 เปอร์เซ็นต์จากที่เราผลิตได้ทั้งหมดนั้น คนไทยกินกุ้งเพียงแค่ 0.8 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้นเอง เราอยากจะเพิ่มตรงนี้ให้เป็น 1.2 กิโลกรัม ให้ได้” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
นางสาวสุพัตรา กล่าวเพิ่มเติมอีก ว่า กุ้งฝอยทะเลตัวจะเท่ากับกุ้งฝอยแม่น้ำ สิ่งที่แตกต่างคือ กุ้งฝอยแม่น้ำ จะมีเป็นช่วงฤดูกาลเท่านั้นไม่ได้มีตลอดทั้งปี รวมทั้งยังมีเรื่องความไม่ปลอดภัยจากเชื้อโรค เช่น พยาธิใบไม้ การผลิตกุ้งฝอยทะเลจะปรับเปลี่ยนกรรมวิธีจากการเลี้ยงของกุ้งไซซ์ใหญ่ขนาด 60-70 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเลี้ยงนานถึง 4 เดือน มาเป็นการเลี้ยงเพียงแค่ 1 เดือน ก็จะได้ขนาด 600-700 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ทั้งปี พร้อมส่งออกสู่ท้องตลาดได้เลย และมีความปลอดภัยเพราะกุ้งทะเลไม่มีพยาธิ
ประเด็นสำคัญเป็นการตัดวงจรกุ้งใหญ่ คือจะลดปริมาณกุ้งไซซ์ใหญ่ในตลาด เมื่อกุ้งมีปริมาณน้อยความต้องการก็จะมีมากขึ้น ราคาก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งการเลี้ยงกุ้งไซซ์ใหญ่ขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม เลี้ยงประมาณ 3 เดือน ราคาอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม แต่กุ้งฝอยทะเลเลี้ยงเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่ราคาอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกันแล้วเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งฝอยจะได้ราคาดีกว่า
“กุ้งฝอยทะเลสามารถทำอาหารได้เหมือนกุ้งฝอยแม่น้ำทั่วไป เช่น ทำกุ้งเต้น กุ้งทอด ซึ่งเราสามารถส่งตลาดล่างได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นโมเดิร์นเทรด เพราะคนไทยส่วนใหญ่นิยมรับประทานกุ้งฝอยกันอยู่แล้ว อีกอย่างเรามองไปที่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นจะมีร้านสาเกประมาณ 30,000 กว่าร้าน เขาจะเสิร์ฟสาเกพร้อมกุ้งฝอยทอด ซึ่งเรากำลังมองตลาดตรงนี้ แต่เนื่องจากว่าทางญี่ปุ่นนำเข้าจากจีนปีละประมาณ 30,000 ตัน หากขอส่วนแบ่งทางตลาดสัก 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 500 ตันก็ถือว่าเยอะแล้ว” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=185605&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น