พลิกฟื้นธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปที่ดิน สร้างโอกาสแข่งขันทางการค้า
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 51
พลิกฟื้นธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปที่ดิน สร้างโอกาสแข่งขันทางการค้า
ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำนมในหลายประเทศมีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น โครงสร้างการผลิตโคนมของไทยกลับมีแนวโน้มลดลงทั้งเชิงปริมาณและประสิทธิภาพ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงจัดทำ “โครงการพลิกฟื้นธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปที่ดิน” ขึ้น เพื่อพัฒนาและเสริมประสิทธิภาพการผลิตโคนมของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ทั้งยังช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง และได้น้ำนมที่มีคุณภาพ สะอาด ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ปี 2552 นี้ กระทรวงเกษตรฯมอบหมายให้ ส.ป.ก. ร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เร่งขับเคลื่อนโครงการพลิกฟื้นธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคนมในพื้นที่ 7 จังหวัด ซึ่งมีฐานการตลาดเดิมอยู่แล้ว ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุโขทัย พิจิตร และ อุตรดิตถ์ เกษตรกรเป้าหมาย 1,200 ราย โคนมไม่น้อยกว่า 15,000 ตัว
ผู้เลี้ยงโคนมที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ภายใต้เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะด้านพันธุ์โคนม อาหาร การจัดการฟาร์ม การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคโคนม การเก็บถนอมน้ำนมดิบตามหลักวิชาการ รวมถึงการตลาดน้ำนมดิบ ผลิตภัณฑ์นมและการแปรรูปด้วย ขณะเดียวกันยังได้เข้าถึงทรัพยากรซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนมและน้ำนมดิบภายในฟาร์มของตนเอง อีกทั้งยังได้เข้าถึงตลาดโดยจะมีการสร้างเครือข่ายธุรกิจการผลิตและการตลาดโคนม พร้อมสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนต่ออาชีพการเลี้ยงโคนม
จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรมีโคนมที่ด้อยคุณภาพค่อนข้างมาก ทั้งยังมีปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และหลายพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำด้วย อย่างไรก็ตาม ทางโครงการได้เตรียมแผนเร่งปรับโครงสร้างฝูงโคนมใหม่ โดยจะคัดโคนมที่ไม่มีคุณภาพออกจากฝูง จำนวน 20% หรือประมาณ 400 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่โคที่มีอายุมาก ให้น้ำนมน้อย และโคที่ผสมติดยาก เป็นต้น
สำหรับปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง การใช้ฟางข้าวเข้ามาเสริมน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยให้เกษตรกรผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมให้นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ อาทิ ข้าวโพดและมันสำปะหลัง มาผลิตเป็นอาหารข้นเพื่อเสริมในการเลี้ยงโคนมด้วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ส.ป.ก. ได้เตรียมสนับสนุนเงินจ่ายขาด วงเงิน 3 ล้านบาท ให้เกษตรกรใช้เป็นทุนสำหรับขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเอาไว้ใช้ เป้าหมาย 30 บ่อ ต้นทุนบ่อละ 1 แสนบาท มีระดับความลึก 80 เมตร คาดว่ามีน้ำหล่อเลี้ยงฟาร์มโคนมของเกษตรกรได้ตลอดทั้งปี รวมไม่น้อยกว่า 120 ราย (น้ำบาดาล 1 บ่อ/เกษตรกร 4 ราย) อย่างไรก็ตาม ภายหลังโครงการฯ นี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ปี 2553 ส.ป.ก. ได้เตรียมแผนผลักดันให้จังหวัดลพบุรีและสระบุรี เป็น “นิคมการเกษตรโคนม” หรือพื้นที่โซนนิ่ง (Zoning) ธุรกิจโคนมต่อไป
“จากปัญหาสารเมลามีนตกค้างปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นมของจีน นับเป็นโอกาสที่ผู้เลี้ยงโคนมของไทยจะได้เปรียบหลายประเทศ โดยจะต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ทั้งการเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบ และการพัฒนาระบบการจัดการฟาร์มเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ที่สำคัญ ต้องผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปราศจากสารตกค้างและสารปนเปื้อน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่า โคนมไทยสามารถแข่งขันได้แน่นอน” นายอนันต์ กล่าว
นี่เป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทราบแล้วคงชื่นใจ อย่างน้อยเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรก็ไม่ถูกปล่อยให้เดินเดี่ยวต่อสู้ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจถดถอย โคนมไทยได้เวลายืนหยัด “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” แล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=185838&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น