เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 51
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ผลิตเครื่อง อัลตราโซนิค ใช้สำหรับทดลองเกี่ยวกับการ ล้างพืชผักและผลไม้ ในเวลาต่อมา นางสาวพวงแก้ว เตชะภัทร และนายธัศวินทร์ ยิ้มละมัย นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้เข้าร่วมต่อยอดในการทำวิจัยเกี่ยวกับ “โครงการล้างผักและผลไม้ด้วยคลื่นความถี่สูง” โดยมี ดร.สิริชัย ส่งเสริมพงษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้โครงการ ปรับปรุงการผลิตด้วยเทคโนโลยีสะอาด
ดร.สิริชัย ส่งเสริมพงษ์ กล่าวว่า โดยทั่วไปการล้างผักและผลไม้ในโรงงานแปรรูปอาหาร เป็นขั้นตอนที่สูญเสียน้ำมากที่สุด สูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ของกระบวนการใช้น้ำทั้งหมด ทีมงานจึงค้นหาวิธีการลด การสูญเปล่าของน้ำที่เกิดขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยจากจุลินทรีย์และสารเคมีตกค้าง ซึ่งโครงการทดลองจะใช้ผักและผลไม้รวม 4 ชนิด ได้แก่ ผักชีไทย ผักคะน้า พริกชี้ฟ้า และ องุ่นเขียว
ต่อมาได้นำมาทดลองล้างร่วมกับ เครื่องอัลตราโซนิค โดย ทดลองที่ความถี่คลื่นเสียงที่แตกต่างกันคือ 35 kHz, 38.5 kHz, 60 kHz และ 67 kHz จากนั้นเลือกความถี่ และหาระยะเวลาที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพของผักและผลไม้ ที่เกิดขึ้นหลังจากการล้างเสร็จสิ้น แล้วจึงหาสัดส่วนของผักและผลไม้ที่เหมาะสมต่อการล้างด้วยน้ำ 2 ลิตรร่วมกับเครื่องอัลตราโซนิค โดยพิจารณาจากการตรวจวัดสารเคมีตกค้าง ทั้งก่อนและหลังด้วยชุดตรวจสอบ GT เพื่อดูค่าความเป็นพิษ
ดร.สิริชัย เผยว่า ทีมวิจัยได้ทำการทดลองล้างผักและผลไม้ กับเครื่องอัลตราโซนิคร่วมกับสารทำความสะอาด 3 ชนิด คือ โซเดียมไบคาร์บอเนต น้ำส้มสายชู และ น้ำยาล้างผัก พร้อมกับกำหนดระยะเวลาไว้แล้ว เมื่อล้างเสร็จทำการแช่ด้วยสารฆ่าเชื้อที่เรียกว่า น้ำอิเล็กไทรไลท์ ชนิดกรด มีคุณสมบัติในการทำลาย แบคทีเรีย รา และ เชื้อไวรัส เป็นเวลา 3 นาที
จากนั้นทำการตรวจสอบสารเคมีตกค้างและปริมาณจุลินทรีย์ พบว่า ความถี่ที่เหมาะสมที่สุดในการล้างผัก และผลไม้ด้วยเครื่องอัลตราโซนิค คือ ความถี่ 60 kHz ได้เวลาที่เหมาะสมในการล้างผักชีไทย อยู่ที่ 3 นาที ผักคะน้า พริกชี้ฟ้าและองุ่นเขียว ที่เวลา 7 นาที และปริมาณที่เหมาะสม ของผักชีไทย ผักคะน้า พริกชี้ฟ้า และองุ่นเขียว คือ 160 กรัม 220 กรัม 700 กรัม และ 600 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตรตามลำดับ
“ผล การทดลองสุดท้ายพบว่า การล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต มี สารเคมีตกค้างน้อยที่สุด ในทุกๆตัวอย่างที่ทำการทดลองและเมื่อแช่ในน้ำอิเล็กโทรไลท์นาน 3 นาทีพบว่า ผักชีไทยและคะน้า ที่ล้างด้วยน้ำส้มสายชู และแช่ด้วยน้ำอิเล็กโทรไลท์มีสารเคมีตกค้างน้อยที่สุด ส่วนองุ่นเขียว และพริกชี้ฟ้า ที่ล้างด้วยน้ำยาล้างผัก และแช่ด้วยน้ำอิเล็กโทรไลท์ มีสารเคมีตกค้างน้อยที่สุด” ดร.สิริชัย กล่าว
ผลจากการตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ในการล้างผักและผลไม้ โดยใช้เครื่องอัลตราโซนิคร่วมกับน้ำยาล้างผัก พบว่า จำนวนจุลินทรีย์ของผักชีไทย ผักคะน้า องุ่น และพริกชี้ฟ้า ลดลง 78.93, 76.92 57 และ 73.33 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
หลังจากที่แช่ด้วยน้ำอิเล็กโทรไลท์ลดลงถึง 96.07, 94.69, 97.6 และ 96.89 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ซึ่งผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่า การใช้เครื่องอัลตราโซนิคล้างองุ่น จะประหยัดน้ำได้มากที่สุด คิดเป็นตัวเงินประมาณ 5,056.03 บาทต่อปี
การใช้คลื่นอัลตราโซนิค 60 kHz นี้ จึงเหมาะสมในการนำมาใช้ล้างผักและผลไม้ในครัวเรือน และสามารถนำมา พัฒนาต่อยอดในส่วนของอุตสาหกรรมการส่งออกพืช ผัก และผลไม้
ผลงานวิจัยข้างต้น จะช่วยพัฒนาความสะอาด ปลอดภัย ให้กับสินค้าเกษตรได้เป็นอย่างดีลดการสูญเสียน้ำ และลดปัญหาน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 22 ธันวาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=116076