แปรรูปงาปลอดสารเคมี ณ บ้านปางหมู จ.แม่ฮ่องสอน
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 51
แปรรูปงาปลอดสารเคมี ณ บ้านปางหมู จ.แม่ฮ่องสอน
"งา” ในที่นี้มิได้หมายถึงงาช้าง แต่หมายถึงพืชชนิดหนึ่งที่มิสามารถนำไปคั่วพร้อมกับถั่วได้ เพราะว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ งา มีทั้งแบบงาดำและงาขาว ส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้คือ เมล็ดงา ซึ่งเห็นเมล็ดเล็ก ๆ อย่างนี้แต่มีประโยชน์มากมายสารพัดสารพัน เช่น อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามิน บี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 และ วิตามินไบโอติน โคลีน ไอโนสิตอล กรดพาราอะมิโนแบนโซอิค สารเหล่านี้จะช่วยบำรุงประสาทให้เป็นไปอย่างปกติ นอกจากนี้ในงายังมีกรดไขมันไลโนลีอิกซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตและสามารถเก็บความชุ่มชื้นของผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ความชราที่ไม่สามารถต้านได้แต่เราสามารถชะลอได้ด้วยงานี่แหละนอกจากนี้แล้วงายังมีสรรพคุณอีกมากมายสุดที่จะพรรณนา
ณ บ้านปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดสารเคมี ที่แปรรูปงามาป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจโดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรหันกลับไปมองการเกษตรแบบพื้นบ้านดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วนำมาปรับให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในปัจจุบัน
องค์ความรู้ในการปลูกงา ผลิตงา แปรรูปน้ำมันงา และการสกัดน้ำมันงา (อีดงา) โดยใช้ ภูมิปัญญาไทยใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่า องค์ความรู้มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ของชาวไทยใหญ่ที่ได้มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปางหมู และได้มีการสืบทอดทำกันมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน โดยมีวิธีการทำคือ 1.นำเมล็ดงามาผัดหรือเป่าพัดลม เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เช่น ใบไม้ ก้าน ดิน ให้สะอาด แล้วนำไปตากแดด 3 วัน 2. ชั่งหรือตวงน้ำหนักเมล็ดงา 15 กิโลกรัม หรือประมาณ 23 ลิตร 3. ต้มน้ำให้เดือดพล่านประมาณครึ่งชั่วโมง (ถ้าน้ำไม่สุกพอจะมีผลต่อน้ำมันงา) 4. ตวงน้ำต้มสุกใส่ลงไปในก้นครก 1-1.5 กระป๋องนม 5. เทเมล็ดงาที่เตรียมไว้ 15 กิโลกรัม หรือประมาณ 23 ลิตร บดให้เมล็ดงาแตกประมาณ 1/3 ส่วน (ครกที่ใช้บดเป็นครกไม้และใช้แรงสัตว์ในการหมุนครก) ตวงน้ำต้มสุก 1 กระป๋องนม ค่อย ๆ หยอดน้ำเพื่อให้เมล็ดงากับน้ำเข้ากัน บดไปเรื่อย ๆ เติมน้ำเป็นระยะ ๆ จนได้ที่แล้ว น้ำมันจะเริ่มออกมา บดต่อไปจนกากงาแยกออกจากกัน (เทน้ำข้างบนที่ใช้ทั้งหมดหรือที่เรียกว่าน้ำหัวใช้ปริมาณทั้งหมดประมาณ 3-4.5 กระป๋องนม) ปริมาณน้ำที่ใช้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับงาที่แห้งสนิทดีหรือไม่ เมล็ดงาสมบูรณ์ดีหรือไม่ปริมาณมากหรือน้อยของเมล็ดงาที่ใส่แต่ละครั้งของการ อีด 6. เมื่อน้ำมันที่ได้แล้วจะสังเกตจากฟองน้ำมันเล็ก ๆ เท่าหัวไม้ขีดกลายเป็นฟองน้ำมันเท่าหัวแม่มือแสดงว่าน้ำมันได้ที่แล้ว 7.ตักน้ำมันข้างบนครกเทใส่กระชอน ที่มีผ้าขาวบางรองไว้ใส่ในถังที่เตรียมไว้ 8. นำน้ำมันที่ได้ใส่ถังพักตะกอน 1 เดือน ก็บรรจุขวดเพื่อจำหน่ายต่อไป
ที่ผ่านมานั้นการนำงามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทำกันเฉพาะในชุมชน กระทั่งทางจังหวัดเล็งเห็นว่า งาที่แม่ฮ่องสอนมีศักยภาพสมควรที่จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้ ปัจจุบันจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์จากงา เช่น น้ำมันงา สบู่ ยาสระผม โลชั่น ขนมงา งาคั่ว น้ำนมงา เนยงาคั่ว
กากงา คือเมล็ดงาที่สกัดน้ำมันออกจนหมดแล้ว ยังมีโปรตีนสูงถึง 34-50% มีกรดอะมิโนเมทไธโอนินสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่นประมาณ 3.8% และมีเซซามีน เซซาโมลินรวมอยู่ด้วย ซึ่งกากงานี้นอกจากจะสามารถนำไปเลี้ยงสัตว์หรือนำไปทำปุ๋ยได้แล้ว ยังสามารถนำไปทำเป็นแป้งได้อีกด้วย แป้งที่ว่านี้นำไปทำขนมเช่น คุกกี้ ขนมปัง ขนมปังอบกรอบ
เห็นได้ชัดเจนว่า งา มีประโยชน์ยิ่งยวด เมล็ดเล็ก ๆ แต่มีคุณสมบัติครบถ้วน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจวบจนปัจจุบัน นับเป็นพืชมหัศจรรย์โดยแท้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=185837&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น