เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 51
เรื่องจีเอ็มโอหรือที่เราเรียกกันว่าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบ เหมือนกับเรื่องของสิ่งที่จับต้องไม่ได้และยังมองไม่เห็น จึงเกิดการคาดเดาและกลัวกันไปต่างๆ นานา
ส่วนใหญ่แล้วเป็นความกลัวและความเชื่อที่ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าใดนัก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าคนทั่วไปยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับจีเอ็มโออย่างแท้จริง เนื่องจากศาสตร์นี้ยังเป็นของใหม่ของโลกในปัจจุบัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นยุคนี้ ก็คือการต่อต้านไม่ให้มีการพัฒนางานด้านจีเอ็มโออย่างแข็งขัน โดยให้เหตุผลว่าเรื่องจีเอ็มโอยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีความปลอดภัย แต่ขณะเดียวกัน อาจมีคำถามกลับว่าหลักฐานที่ว่าจีเอ็มโอเป็นสิ่งไม่ดี ก็ยังไม่มีชัดเจนเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะพูดกันด้วยเหตุด้วยผลแล้ว การเปิดโอกาสให้หาคำตอบด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มาพิสูจน์กันว่าจีเอ็มโอที่แท้จริงแล้วมีประโยชน์และมีโทษอย่างไร จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน สังคมก็ควรมีความเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องจีเอ็มโอบ้างพอสมควร เรียกว่าเพียงพอที่จะใช้วิจารณญาณตัดสินใจได้ว่าจริงๆ แล้วจีเอ็มโอเป็นอย่างไร และควรดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างไร โดยไม่ใช้ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวในการตัดสิน
ปกติเราจะได้รับฟังเรื่องราวจีเอ็มโอในแง่มุมของการต่อต้านไม่ให้มีการพัฒนามามากแล้ว ลองมาดูในแง่มุมทางวิชาการเท่าที่มีอยู่ขณะนี้บ้างว่าจะให้ความกระจ่างในจุดใดได้บ้าง
ทาง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันการวิจัยด้านนี้มานาน ได้รวบรวมคำถามคำตอบที่มักถูกถามบ่อยมาพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ ชื่อเรื่องว่า เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้อ่านกัน
ผมเห็นว่าเอกสารเล่มเล็กๆ นี้มีประโยชน์ จึงนำมาถ่ายทอดต่อเพื่อให้เป็นข้อมูลอีกด้านสำหรับคนทั่วไปได้ใช้ในการพิจารณา และเข้าใจเกี่ยวกับจีเอ็มโอมากขึ้น
เริ่มแรกเลยก็คือคำถามที่ว่าจีเอ็มโอคืออะไรกันแน่ คำตอบก็คือเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ ที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรมโดยใช้เทคนิคทางด้านพันธุวิศวกรรม หรือเรียกง่ายๆ ก็คือเทคนิคการตัดต่อยีน เพื่อให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่เราต้องการ
อย่างเช่น ต้านทานแมลง ต้านทานโรค มีความคงทนสามารถอยู่รอดและให้ผลผลิตได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อประโยชน์เฉพาะบางอย่าง เช่น เพิ่มสารที่เป็นประโยชน์ทางโภชนาการเช่นวิตามิน กรดไขมันที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
ถ้าดูไปแล้วก็เหมือนกับการผสมพันธุ์ทั่วไป เพียงแต่ว่าเรื่องนี้มีการใช้เทคนิคนำยีนที่เรารู้บทบาทแล้วมาใส่โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยการเดาสุ่มแบบการปรับปรุงพันธุ์ทั่วไป จึงได้ผลเร็วขึ้นและแน่นอนขึ้น
ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ ไว้จะมาเล่าให้ฟังต่อในคราวหน้าครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 22 ธันวาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/12/22/x_agi_b001_326732.php?news_id=326732