เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 51
ในการเลี้ยงไก่ไข่ การจัดการที่ดี การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะทำให้ไก่เติบโต ไข่ได้จำนวนและน้ำหนักได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันผู้เลี้ยงไก่ไข่ส่วนใหญ่ใช้ระบบการเลี้ยงในโรงเรือนปิด
โดยใช้ระบบทำความเย็นแบบระเหย (Evaporative Cooling System) ซึ่งมีต้นทุนสูง เนื่องจากมีต้นแบบมาจากต่างประเทศ เป็นเหตุให้ภายในโรงเรือนมีความแตกต่างของอุณหภูมิและความชื้น ส่งผลต่อคุณภาพและผลผลิตของสัตว์ที่เลี้ยงบริเวณหน้าเล้าและท้ายเล้าไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน โดยที่อยู่ท้ายเล้าจะให้ปริมาณผลผลิตด้อยกว่าหน้าเล้า รวมถึงมีอัตราการตายที่สูงกว่าด้วย
จากสาเหตุดังกล่าว สรยุทธ วินิจฉัย อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยความร่วมมือกับบริษัท ศรีวิโรจน์ ฟาร์ม จำกัด สถานประกอบธุรกิจฟาร์มไก่ครบวงจร ได้แก้ไขปัญหาระบบระบายอากาศในโรงเรือนปิด ที่ใช้ระบบทำความเย็นแบบระเหย โดยนำทฤษฎีหน้าต่างรถเมล์มาประยุกต์ใช้คือ สร้างระบบกระจายและแบ่งลม โดยเพิ่มตำแหน่งของ Cooling Pad ตามความยาวของโรงเรือน และติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมปริมาณลมผ่าน Cooling Pad พร้อมสร้างอุปกรณ์ควบคุมระบบระบายอากาศที่ควบคุมด้วยระบบ Fuzzy logic Control เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในเล้าให้อยู่ในช่วงที่มีความเหมาะสมตลอดโรงเรือน
"ปัญหาที่ฟาร์มเลี้ยงไก่พบคือ โรงเรือนระบบปิดนั้นจะมีอุณหภูมิท้ายเล้าสูงกว่าหน้าเล้าเกิน 6 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกันโรงเรือนมีขนาด 10x115x 4 เมตร ซึ่งมีไก่ 7-8 หมื่นตัว ถือว่าหนาแน่นมาก ส่งผลให้ไก่เครียดและป่วยตายในช่วงการเลี้ยงสูง ทั้งมีแนวโน้มไก่ท้ายเล้าให้ผลผลิตด้อยกว่าไก่หน้าเล้า ทั้งด้านคุณภาพ น้ำหนัก และผลผลิตที่ลดลง จากการศึกษาโดยใช้ทฤษฎีหน้าต่างรถเมล์เข้ามาปรับใช้นั้น ช่วยเพิ่มช่องทางเข้าของลมให้เข้าสู่โรงเรือนในช่วงด้านข้างทำให้มีอากาศใหม่ๆ เข้าไปช่วยปรับสภาพอากาศภายในให้สม่ำเสมอหรือใกล้เคียงกันตลอดทั้งโรงเรือน" อาจารย์สรยุทธ กล่าว
อาจารย์สรยุทธ กล่าวอีกว่า จากการทดลองสร้างอุปกรณ์แบ่งและกระจายอากาศให้เข้าสู่โรงเรือนโดยนำทฤษฎีหน้าต่างรถเมล์มาประยุกต์ใช้นั้น ผลปรากฏว่าสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนมีอุณหภูมิหน้าเล้าและท้ายเล้าแตกต่างลดลงจากเดิม 2-3 องศาเซลเซียส น้ำหนักไข่เฉลี่ยตลอดการเลี้ยงได้มาตรฐานของสายพันธุ์ ได้คุณภาพอากาศและอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยไก่ลดอาการป่วยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศภายนอก ปริมาณการแอมโมเนียในเล้าอยู่ระหว่าง 0-2 ppm. ซึ่งต่ำกว่าแบบเดิมที่มีแอมโมเนียสูงกว่า 10 ppm. และปริมาณออกซิเจนในเล้าอยู่ที่ 20.05-20.07 ppm.ซึ่งเหมาะสม
ทั้งนี้ ในส่วนการประหยัดพลังงานนั้นไม่แตกต่างจากเดิม เนื่องจากเป็นการต่อเติมเล้าเดิม และจำนวนพัดลมที่ติดตั้งน้อยกว่าเกณฑ์การออกแบบที่เหมาะสม แต่กรณีการสร้างเล้าใหม่ที่มีการออกแบบเหมาะสม ระบบจะลดการใช้พลังงานได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการกระจายลมเข้าอย่างเหมาะสม ความแตกต่างของอุณหภูมิภายในเล้าลดลง มีอากาศบริสุทธิ์ในปริมาณเหมาะสมตลอดความยาวของโรงเรือน ปริมาณแอมโมเนียสะสมลดลง ไก่จึงมีสุขภาพดีและป่วยยากยิ่งขึ้น ส่งให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนไข่สะสมเมื่อปลดไก่ เกินมาตรฐาน 10 ฟองต่อตัวต่อรุ่น
เกษตรกรหรือเจ้าของฟาร์มเลี้ยงที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อาจารย์สรยุทธ วินิจฉัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 0-4336-2006, 08-9699-8261
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 23 ธันวาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/12/23/x_agi_b001_327585.php?news_id=327585