ยกระดับคุณภาพชีวิต ทำปลาสลิดแดดเดียว ถูกสุขอนามัย
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 51
ยกระดับคุณภาพชีวิต ทำปลาสลิดแดดเดียว ถูกสุขอนามัย
การพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ประชาชนผู้อาศัยในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิต ที่ดี นอกจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแล้ว สถาบันการศึกษาในฐานะ เป็นผู้นำทางด้านวิชาการก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการดำเนินการวิจัยเพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในชุมชนให้เกิดเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา ภายใต้การนำของ รศ.ดร.สุดา สุวรรณาภิรมย์ คณบดีได้ส่งเสริมคณะนิสิตหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการสาธารณะ รุ่นที่ 1 วิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษาเรียนรู้และลงพื้นที่วิจัยในชุมชนจริง ในพื้นที่เทศบาล ต.หลักห้า อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
รศ.ดร.สุดา สุวรรณาภิรมย์ กล่าวว่า อ.บ้านแพ้ว โดยเฉพาะเขตเทศบาล ต.หลักห้า ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาหลายด้าน โดยเฉพาะภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวจากการวิจัยพบว่า พื้นที่ อ.บ้านแพ้ว เป็นแหล่งที่ผลิตปลาสลิดมากที่สุดในประเทศไทย โดยในปี 2549 มีการผลิตมากถึง 2,829 ตัน แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงก็ยังประสบปัญหาด้านการแปรรูปเพิ่มมูลค่า
ส่วนด้านการจำหน่าย เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมการขายปลาสดยกบ่อ การกำหนดราคาจึงขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ทำให้ถูกกดราคา และปัญหาประการสำคัญ คือ การเป็นหนี้เกษตรกรบางรายที่ไม่มีทุนรอน จะกู้เงินจากพ่อค้าคนกลาง เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง ที่ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 8-12 เดือน เมื่อปลาโตพอจับขายก็ทำให้มีเงินรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายต้องเป็นหนี้เรื่อยไป ทางคณะผู้วิจัยจึงได้ ดำเนินการศึกษารูปแบบพัฒนามูลค่าเพิ่มให้ปลาสลิด ควบคู่กับศึกษาด้านการตลาดไปพร้อม ๆ กัน
โดยศึกษาร่วมกับ ผู้เลี้ยงปลาสลิด ผู้แปรรูปปลาสลิด จำนวน 13 ราย ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวังกุ้ง วังปลาสลิดทอง เทศบาล ต.หลักห้า อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้สามารถนำหลักการไปเป็นพื้นฐานการวางแผน การวางแผนพัฒนามูลค่าเพิ่มให้ปลาสลิดเชิงกลยุทธ์ และเริ่มจัดทำแผนกลยุทธ์จน ประสบผลสำเร็จได้ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแดดเดียว ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน มีความสะอาดถูกสุขอนามัย จนปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดีแก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่ แทนการขายปลาสลิดยกบ่อเหมือน เช่นแต่ก่อน
นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยเพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้ หันมารวมกลุ่มในการผลิตปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิต ยกระดับผลิตผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพและความปลอดภัย อีกทั้ง ยังได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
ในด้านศักยภาพการท่องเที่ยวจากการลงพื้นที่ดำเนินการวิจัย เชื่อว่า พื้นที่เทศบาล ตำบลหลักห้า สามารถส่งเสริมและพัฒนาเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยมีจุดเด่นในด้านแหล่งประมง เกษตรกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ความมีอัธยาศัยไมตรี เส้นทางคมนาคมสะดวก พื้นที่มีความปลอดภัย ภูมิอากาศดี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวสวนผลไม้คลองดำเนินสะดวก ที่ถือเป็นคลองหลักที่ใช้ในการเดินทางไปมาหาสู่กันของชุมชน
อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยดังกล่าว ถือเป็นเพียงการเริ่มต้นให้ชุมชนได้มองเห็นและเกิดแนวคิดในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น ยังจำเป็นต้องอาศัยการประสานต่อยอดและขยายผลงานวิจัยดังกล่าว ด้วยการสนับสนุน จากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงได้เข้ามาดูแลอย่างมีทิศทางต่อไป
ดังนั้น วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม. บูรพา จึงได้ส่งมอบผลการดำเนินงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการทั้งหมดให้แก่ทางจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนหรือในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=186036&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น