โครงการพัฒนาดอยตุงฯ แม่แบบพัฒนาคนเพื่อพัฒนาชุมชน
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 51
โครงการพัฒนาดอยตุงฯ แม่แบบพัฒนาคนเพื่อพัฒนาชุมชน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุงฯ พร้อมด้วย ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุงฯ นำ นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เลขาธิการ กปร.) นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายปกรณ์ สัตยวณิช รองเลขาธิการ กปร. ได้เดินทางเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
พระตำหนักดอยตุง นับได้ว่าเป็นบ้านหลังแรก ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริโดยเน้นความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์ได้ดี พระตำหนักดอยตุง เริ่มดำเนินการสร้างเมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 88 พรรษา โดยมีพิธีลงเสาเอก ซึ่งทางเหนือเรียก “พิธีปกเสาเฮือน” เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530
พระตำหนักดอยตุงเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนา กับบ้านพื้นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ และบ้านไม้ซุง ตัวอาคารมี 2 ชั้น และชั้นลอย ที่ประทับชั้นบนแยกเป็น 4 ส่วนทุกส่วนเชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียวเสมอกับลานกว้างของยอดเนินเขา ส่วนชั้นล่างจะเกาะอยู่ตามไหล่เนินเขา ลักษณะเด่นของพระตำหนักอยู่ที่กาแล และเชิงชายแกะสลักลายเมฆไหลรอบ บนพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ ใกล้กับพระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวงได้รับการออกแบบให้สวยงามตลอด 365 วัน แปลงไม้ดอกหลากหลายพันธุ์นับหมื่นดอกถูกจัดแต่งหมุนเวียนให้สวยงามไม่ซ้ำกันทั้ง 3 ฤดู ประกอบกับประติมากรรมเด็กยืนต่อตัวโดดเด่นอยู่กลางสวน ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า “ความต่อเนื่อง” อัน ตรงกับพระราชดำริของสมเด็จย่า ที่ว่า “ทำงานอะไรก็ตามจะสำเร็จได้ต้องมีความต่อเนื่อง”
นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า คณะตรวจเยี่ยมได้ดูงานในหลายโครงการด้วยกัน เช่น ศูนย์ผลิตงานมือ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ กิจกรรมสวนแม่ฟ้าหลวง และโครงการพัฒนาหญ้าแฝก ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในการนำหญ้าแฝกมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยมีการปลูกหญ้าแฝกเป็นเขื่อนธรรมชาติ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การกัดกร่อนผิวดิน การกัดเซาะดินไม่ให้เลื่อนไหล และเพื่อกรองตะกอนดินที่น้ำพามา ตลอดจนลดความเร็วของน้ำ ทำให้ดินดูดซับน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก สามารถอุ้มน้ำสร้างดินเก็บดินให้อยู่กับที่ ป้องกันการสูญเสียหน้าดิน และน้ำที่ไหลทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันสมบูรณ์ฟื้นคืนกลับมา พร้อมที่จะนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าบริเวณต้นน้ำลำธาร ป่าเศรษฐกิจ และพืชเศรษฐกิจหรือพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับพื้นที่อื่นที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ในการแก้ไขสามารถประหยัดงบประมาณจำนวนมาก และยังป้องกันการเลื่อนไหลพังทลายของดินโดยวิธีวิศว กรรมลงได้ เนื่องจากการสร้างกำแพงหญ้าแฝกมีค่าใช้จ่ายต่ำ และกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมดั้งเดิม
“โครงการพัฒนาดอยตุงได้เริ่มดำเนินงานตามแผนแม่บทมาตั้งแต่ปี 2531 ขณะนี้อยู่ในการดำเนินงานตามแผนฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2546-พ.ศ. 2560) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดี กินดี เป้าหมายจึงอยู่ที่คน ฉะนั้น จึงต้องเอาผลจากการพัฒนาต่อไปให้ไปถึงคน ให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการได้อย่างเต็มที่ และให้คนในพื้นที่ได้ทำต่อไป เวลานี้ได้ฝึกคนในพื้นที่ให้สามารถรับไปปฏิบัติต่อไปให้ได้จนถึงปี 2560 เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นการศึกษาระดับต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาในโรงเรียน เพื่อฝึกให้คนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 10,700 คน ใน 27 หมู่บ้าน ให้สามารถดำเนินงานเป็นโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนตามพระปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ต่อไป” นายเฉลิมเกียรติกล่าว
นอกจากนี้โครงการพัฒนาดอยตุงยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมขึ้น เพื่อฝึกอาชีพและสร้างงานให้ชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ ทางการเกษตรและนำไปประกอบเป็นอาชีพของตนเอง ได้แก่ งานเพาะเนื้อเยื่อ เห็ด กาแฟ ไม้ตัดดอกตัดใบ ไม้กระถาง ไม้ประดับจากต่างประเทศ ฯลฯ เป็นสาเหตุให้ผลผลิตทางการเกษตรของดอยตุงมีคุณภาพดี เนื่องจากมีการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และนำเทคโนโลยีทางการเกษตรยุคใหม่มาประยุกต์ใช้จนได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานดีเป็นที่ยอมรับของตลาด เช่น กาแฟดอยตุงที่เป็นผลผลิตจากต้นกาแฟอาราบิกาเป็นส่วนหนึ่งของป่าเศรษฐกิจ โครงการดอยตุง ปลูกอยู่บนเขาสูงมีคุณภาพดี เมื่อนำมาคั่ว จึงได้กาแฟที่มีรสชาติละเมียดอร่อย เป็นเอกลักษณ์ของดอยตุง จนเป็นที่ยอมรับว่ามีรสชาติระดับมาตรฐานสากล
ในบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง มีหมู่บ้าน 26 หมู่บ้านประกอบด้วยชน กลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์ ได้แก่ ไทยใหญ่ จีนฮ่อ ชาวเขาเผ่าอีก้อ และเผ่ามูเซอ ปัจจุบันชาวบ้านเหล่านี้ ตั้งรกรากเป็นหลักแหล่ง มีถนนหนทางติดต่อกันได้สะดวก แต่ละหมู่บ้านมีเอกลักษณ์และการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันไป ชาวบ้านเหล่านี้เข้ามาทำงานและฝึกอาชีพกับโครงการฯ ทำให้มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ และยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของเผ่าไว้ได้อย่างดี จวบจนทุกวันนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=52217&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น