ภาคตะวันออก ปี'51 น้ำจะเพียงพอ เมื่อการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 51
ภาคตะวันออก ปี'51 น้ำจะเพียงพอ เมื่อการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ
พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรสำคัญของประเทศ ด้วยมีพืชผลทางการเกษตรมากมายหลายชนิดและอยู่ไม่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานครและเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ และทุกปีเมื่อย่างเข้าฤดูแล้งปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งอุปโภคและบริโภค ตลอดถึงการใช้น้ำเพื่อบำรุงไม้ผล และพืชสวน ในพื้นที่จะเข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีปริมาณน้อย ขณะที่ความต้องการใช้มีปริมาณมาก แถมทวีมากขึ้นทุกขณะ
จากการเตรียมการที่อาศัยปัญหาจากปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนด เป็นผลให้การบริหารจัดการในเรื่องของน้ำในปี 2550/2551 ของพื้นที่ภาคตะวันออกมีน้ำต้นทุนเพียงพอเพื่อการใช้ของพื้นที่ในทุกด้าน
ทั้งนี้สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก ล่าสุด ณ วันที่ 17 ม.ค. 51 ที่ผ่านมา ในเขตจังหวัดชลบุรี มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งหมด 86 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำวันละ 0.465 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดการณ์ว่า เมื่อสิ้นฤดูแล้งและเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนปลายเดือนพฤษภาคม 2551 จะยังมีปริมาณน้ำคงเหลือในอ่างเก็บน้ำในเขตจังหวัดชลบุรีรวมกันประมาณ 74.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงฤดูแล้งปี 2550/2551 โดยจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน
สำหรับในเขตจังหวัดระยองก็มีปริมาณน้ำต้นทุนจากลุ่มน้ำระยอง ซึ่งประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 191 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำประมาณวันละ 0.80-0.90 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดการณ์ว่า เมื่อสิ้นฤดูแล้งและเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ก็จะยังคงมีปริมาณน้ำเหลือในอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำใช้อย่างเพียงพอเช่นกัน และไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำเช่นเดียวกับจังหวัดชลบุรี
และนอกจากแหล่งน้ำต้นทุนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในพื้นที่จังหวัดระยอง ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่ปัจจุบัน ณ วันที่ 17 ม.ค. 51 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจำนวน 197.38 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ จึงสามารถส่งน้ำให้สวนผลไม้ได้ 54,000 ไร่ ในปริมาณการใช้น้ำที่ 70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และใช้ในการผลักดันน้ำเค็ม 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันได้อีก
รับทราบมาว่าทางกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก โดยเน้นการจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรกรรมเป็นหลักสำหรับฤดูแล้ง และในช่วงฤดูแล้งปี 2550/2551 การใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจ ทางกรมชลประทานได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการท่อเชื่อมน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำ คลองใหญ่ไปลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล โครงการท่อเชื่อมน้ำระหว่างลุ่มน้ำบางปะกงไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ และโครงการก่อสร้างท่อดึงน้ำจากแม่น้ำระยองเข้าสู่ระบบท่อของ บริษัท East Water โดยตรง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกในอนาคตได้เป็นอย่างมากทีเดียว
อย่างไรก็ตามทางกรมชลประทานยังได้ฝากบอกมาถึงประชาชนในพื้นที่ด้วยว่า อย่างไรแล้ว ก็ขอความร่วมมือในการใช้น้ำให้เป็นไปด้วยความระมัดระวัง แม้ปริมาณน้ำต้นทุนจะมีเพียงพอก็ตาม โดยเฉพาะในการปลูกพืชฤดูแล้งทั่วประเทศในเขตชลประทาน ปี 2550/2551 เกษตรกรควรทำการเพาะปลูกตามแผนการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนเพื่อลดความเสียหายต่อพืชที่นำมาเพาะปลูก พร้อมเตือนให้เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไปใช้น้ำอย่างประหยัด ระมัดระวัง และเกิดประโยชน์สูงสุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=51998&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น