รูปลักษณ์ใหม่ 'ส.ป.ก.4-10ค.' ทันสมัยไม่ตกเทรนด์
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 51
รูปลักษณ์ใหม่ 'ส.ป.ก.4-10ค.' ทันสมัยไม่ตกเทรนด์
กรณีพิพาทจากปัญหาแนวเขตที่ดินไม่ชัดเจนหรือแนวเขตที่ดินทับซ้อน ยังปรากฏให้เห็นในทุกยุค บางส่วนเกิดจากการใช้เครื่องมือรังวัดที่ไม่ได้มาตรฐานและมีความล้าสมัย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจในการจัดที่ดินให้กับคนยากจนซึ่งไร้ที่ดินทำกิน ได้เข้าอยู่อาศัยและเข้าทำประโยชน์ด้านการเกษตร พร้อมมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้เกษตรกร ซึ่งปี 2551 นี้ ส.ป.ก. มีแผนเร่งปรับปรุงแนวเขตที่ดินในเขตปฏิรูปให้มีความชัดเจน โดยนำภาพถ่ายทางอากาศออร์โธสี มาตราส่วน 1:4,000 เข้ามาใช้ และ ปรับรูปลักษณ์เอกสารสิทธิใหม่ เป็น “ส.ป.ก.4-01ค” ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และเกษตรกรยังนำที่ดินเข้าสู่แหล่งทุนได้อีกด้วย
นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจากเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็น ส.ป.ก.4-01 ค ว่า การดำเนินงานดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 ซึ่งเห็นชอบในหลักการออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชน โดยมุ่งให้เป็นมาตราส่วนเดียวกัน คือ 1:4,000 รวมทั้งปรับปรุงแนวเขตที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานให้เป็นเส้นเขตเดียวกัน และมีการตรวจสอบแนวเขตในภูมิประเทศจริง (Ground Check) ด้วย
ส.ป.ก.จึงได้เร่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดทำเอกสารสิทธิจาก ส.ป.ก.4-01 เป็น ส.ป.ก.4-01 ค มาตราส่วน 1:4,000 มาตั้งแต่ปี 2550 โดยขณะนี้ได้มอบเอกสาร ส.ป.ก.4-01ค ให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินไปแล้วกว่า 17,191 ฉบับ และมีกลุ่มที่พร้อมออก ส.ป.ก.4-01ค เพิ่มเติมอีกจำนวน 29,594 ราย 35,359 แปลง พื้นที่ 481,994 ไร่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จครอบคลุมเกษตรกรไม่น้อยกว่า 1.62 ล้านราย พื้นที่ 26.60 ล้านไร่ ภายในปี 2552 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยติดตามตรวจสอบแนวเขตและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งยังเป็นระบบที่จะช่วยในการวางแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำ ส.ป.ก.4-01 ค แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีไม่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม จะใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ออร์โธสี มาตราส่วน 1:4,000 ของกรมพัฒนาที่ดินเป็นตัวอ้างอิง มีค่าใช้จ่ายในการจัดทำแผ่นละ 25 บาท ซึ่งเท่ากับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 2.กรณีที่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ระวางแผนที่ที่ดินกับภาพถ่ายทางอากาศมีรูปแผนที่หรือเนื้อที่ไม่ตรงกัน การถือครองที่ดินผิดแปลง หรือมีข้อพิพาทเกี่ยวกับแนวเขตที่ดิน และกรณีอื่น ๆ ส.ป.ก. จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรายละเอียดในพื้นที่ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดทำอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าแผ่นละ 25 บาท ทั้งนี้ อัตราเบิกจ่ายในการจัดทำ ส.ป.ก.4-01ค ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละแปลง ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและขั้นตอนการหาข้อมูลเพิ่มเติม
นายสถิตย์พงษ์กล่าวอีกว่า เดิมเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 จะแสดงเฉพาะตำแหน่งที่ตั้งที่ดินของเกษตรกรแต่ละราย และแผนที่จะเป็นเพียงลายเส้นเท่านั้น สำหรับ ส.ป.ก.4-01ค ที่จัดทำขึ้นใหม่นี้จะดูเข้าใจง่าย เนื่องจากเป็นภาพสีที่แสดงแนวเขตครอบครองของเกษตรกรอย่างชัดเจนมากขึ้น พร้อมแสดงแนวเขตแปลงที่ดินที่อยู่รอบ ๆ ขณะเดียวกันยังจะโชว์ให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. ว่า เกษตรกรใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.จริงตามภารกิจตามกฎหมาย ว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ทำให้สะดวกในการใช้ติดตามดูแลการทำประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการตรวจสอบแนวเขตที่ดินเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อพิพาท และถ้าเกิดสูญหายหรือชำรุดจะสามารถตรวจสอบข้อมูลในภาพถ่ายทางอากาศและจัดทำขึ้นใหม่ได้โดยง่าย
นอกจากนี้ยังเป็นมติใหม่ในการออกเอกสารสิทธิให้มีมาตรฐาน ซึ่งปลอมแปลงได้ยาก ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานอื่น สามารถนำไปใช้ตรวจสอบข้อมูลที่ดินของเกษตรกรผู้ได้รับเอกสารสิทธิ เพราะมีเลขประจำตัวประชาชนเป็นตัวเชื่อมข้อมูล ขณะที่เกษตรกรสามารถนำเอกสารสิทธิดังกล่าว เข้าสู่ระบบแหล่งเงินทุนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจาก ธ.ก.ส. มีความมั่นใจในความถูกต้องของเอกสารสิทธิที่มีรูปแปลงที่ชัดเจน เป็นการเพิ่มโอกาสให้มีเงินทุนมาประกอบอาชีพ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน อันจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ ตลอดจนช่วยลดรายจ่ายดอกเบี้ยที่กู้ยืมจากแหล่งเงินทุนนอกระบบด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งมิติที่จะช่วยขับเคลื่อนการจัดที่ดินและพัฒนาที่ดินในเขตปฏิรูปของ ส.ป.ก.ให้เดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความชัดเจนในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อนาคตจะพัฒนาให้เข้าถึงตัวเกษตรกรทุกหย่อมหญ้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=52407&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น