เมื่อวันที่ 4 มกราคม 53
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาของดินในพื้นที่ปลูกทุเรียน ส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาเป็นกรด และเกษตรกรมักใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเดิมๆ ทำให้เกิดสารตกค้างสะสมในดินจำนวนมาก เกิดปัญหาสมดุลธาตุอาหารในดิน ทุเรียนจึงอ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า การที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีช่วยในการผลิตนั้นนอกจากจะมีราคาที่สูงแล้ว ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงมากขึ้นด้วย
ดังนั้นกลุ่มวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงบำรุงดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน ร่วมกับ สถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี สพข. 2 ได้ดำเนินการวิจัย การจัดการดินแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมสำหรับการปลูกทุเรียน เพื่อให้เกษตรกรมีการจัดการดินให้เกิดความสมดุลของธาตุอาหารในดิน โดยการวิเคราะห์ดินและพืช ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในการจัดทำแปลงวิจัยสาธิตใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์จากสารเร่งซุปเปอร์พด.1 และวัสดุปรับปรุงดินที่เหมาะสมกับสภาพของดิน พบว่าแปลงวิจัยสาธิตนี้ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ส่งผลให้เกษตรกรผู้ที่ปลูกทุเรียน มีความสนใจในการเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆได้
จากผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้พัฒนาเป็นโปรแกรมการจัดการดินตามค่าวิเคราะห์ดินและพืชสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ซึ่งให้คำแนะนำที่ถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถพิมพ์ผลคำแนะนำการจัดการดินให้เกษตรกรได้ทันที เพียงแค่เกษตรกรกรอกข้อมูลผลวิเคราะห์ดินและผลวิเคราะห์ใบทุเรียน และข้อมูลเบื้องต้นของเกษตรกรเท่านั้น ทั้งนี้ การจัดการดินมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในดินช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้ผลิตผลเป็นที่น่าพอใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 4 มกราคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=193768