เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 53
แตงกวา เป็นไม้เลื้อยในวงศ์ Cucurbi-taceae ตระกูลเดียวกันกับ แตงโม ฟักทอง บวบ มะระ และ น้ำเต้า นิยมปลูกเพื่อเป็นอาหาร มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 30-45 วัน สามารถนำไปปรุงอาหารได้ มากมายหลายชนิด เช่น แกงจืด ผัด กินกับน้ำพริก หรือแปรรูปเป็นแตงกวาดอง
ปัจจุบันมักเกิด ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชจำนวนมาก ทำให้การผลิตแตงกวาต้องมีการใช้สารเคมีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ.ดร.จุลภาค คุ้นวงศ์ สังกัดภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน ได้ร่วมมือกับ ดร.อัญชลี รวีโรจน์วิบูลย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง "การสร้างแตงกวาสายพันธุ์ Double haploid" ภายใต้ โครงการหลัก เรื่อง "โปรแกรมการวิจัยดีเอ็นเอเครื่อง หมายเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช Phase II" และได้รับทุนการวิจัยจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รศ.ดร.จุลภาค คุ้นวงศ์ บอกว่า การดำเนินงาน วิจัยเรื่องการสร้างแตงกวาสายพันธุ์ Double haploid นี้ ประสบความสำเร็จสามารถสร้างแตงกวาได้ทั้ง สายพันธุ์ แฮพลอยด์และดับเบิลแฮพลอยด์ ซึ่งทางคณะผู้ดำเนินงานได้ ศึกษาหาวิธีการที่เหมาะสมต่อการผลิต จาก 2 วิธีการ คือ วิธีการแรก การกระตุ้นการพัฒนาของรังไข่ด้วยเกสรที่ฉายรังสี พบว่าสร้างได้เฉพาะต้นที่มีโครโมโซมเพียงชุดเดียวหรือ ต้นแฮพลอยด์สายพันธุ์แท้เช่นกัน จะใช้ประโยชน์ได้ต้องมีการชักนำ การเพิ่มชุดโครโมโซมด้วยสารเคมี
สำหรับวิธีการที่ 2 การเพาะเลี้ยงรังไข่ พบว่า วิธีการนี้สามารถสร้างต้นแตงกวาที่เป็น haploid และ double haploid (DH) ได้ ซึ่งต้น DH ที่ได้เป็น spontaneous double haploid ที่มีโครโมโซมจำนวน 2 ชุด และเป็นสายพันธุ์แท้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการงานด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช โดย เฉพาะการสร้างสายพันธุ์ลูกผสม (F1) ซึ่งต้องใช้พ่อแม่สายพันธุ์แท้ในการผลิต และเนื่องจากแตงกวาเป็นพืชผสมข้าม การสร้างสายพันธุ์ แท้ต้องใช้ระยะเวลานาน การสร้างสายพันธุ์แท้ที่เป็นต้นดับเบิลแฮพลอยด์ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยร่นระยะเวลาในการสร้างสายพันธุ์แท้ของแตงกวาได้
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ต้นแตงกวาที่สร้างได้ จากทั้งสองวิธีการ มีการใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอเครื่อง หมายในการคัดเลือกความเป็นสายพันธุ์แท้ และตรวจ สอบชุดโครโมโซมด้วยเครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีการคัดเลือกทางอ้อม แต่มีประสิทธิภาพสูง แม่นยำ และประหยัดเวลา
จากการศึกษาในเบื้องต้นนี้ จึงเลือกที่จะใช้วิธีการสร้างต้นแฮพลอยด์และดับเบิลแฮพลอยด์ของแตงกวาจากวิธีการเพาะเลี้ยงรังไข่ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตดีกว่า ซึ่งทางคณะผู้วิจัยได้นำต้นดับเบิลแฮพลอยด์ออกปลูกและทำการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อจะนำมาใช้ ประโยชน์ในการศึกษาหาตำแหน่งของยีนต้านทานโรคราน้ำค้างของแตงกวา
อย่างไรก็ดี ถ้าสายพันธุ์ดับเบิลแฮพลอยด์ ต้นใด มีลักษณะที่ดีก็ อาจจะใช้เป็นต้นพ่อ-แม่พันธุ์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมได้อีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 27 ธันวาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/137109