เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 53
นายสมนึก คงรัตน์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เปิดเผยว่า ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยวิจัยกับปลานิลจิตรลดา 3 ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือกแบบภายในครอบครัวรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3
ผลจากการวิจัยพบว่าปลานิลจิตรลดา 3 รุ่นที่ 3 มีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยดีกว่าทั้งในด้านความยาว น้ำหนัก อัตราการเจริญเติบโต เฉพาะด้านความยาวและน้ำหนักคิดเป็น 10.48%, 20.66%, 11.36% 4.29% ตามลำดับ ส่วนอัตราการรอดตายไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 65% และ 64 % ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบรูปร่างโดยรวมปลานิลจิตรลดา 3 ทั้ง 3 รุ่น พบว่า มีรูปร่างที่แตกต่างกัน และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนต่างๆ ได้แก่ความลึกของส่วนหัว ความลึกของลำตัวและความลึกของคอดหางต่อความยาวลำตัว พบว่ามีความแตกต่างกัน ผลของการแล่เนื้อพบว่าปลารุ่นคัดเลือกรุ่นที่ 2 และรุ่นคัดเลือกรุ่นที่ 3 มีค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์เนื้อแล่สูงกว่ารุ่นพ่อแม่
นอกจากนี้ ผลการทดสอบยังพบว่า สามารถกระจายพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจากการนำผลงานเข้าร่วมงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2553 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากบริษัทเพาะพันธุ์ปลาและเกษตรกรที่เข้าไปติดต่อเพื่อขอนำพ่อแม่พันธุ์ และลูกปลาไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 28 ธันวาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=242531