เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 53
บริบทและบทบาทหลักของวิทยาลัยชุมชน (วชช.) ที่ต้องการนำความรู้ทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการสร้างอาชีพให้แก่ชุมชน และกลุ่มเป้าหมายให้ได้ตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งนั้น ถึงวันนี้เชื่อว่ายากที่ใครกล้าปฏิเสธ ดังจะเห็นได้จากหลายปีที่ผ่านมา วิทยาลัยแห่งนี้ ด้วยการนำของ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนฯ ที่นำองค์ความรู้เข้าสู่ชุมชน จนก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของชุมชนขึ้นในสังคมไทยอย่างชัดเจน
มูหามะสุกรี มะสะนิง ศิษย์เก่าวิทยาลัยชุมชนปัตตานี ผู้นำชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนบ้านตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเข้าเป็นนักศึกษา วชช.ว่า จบการศึกษาชั้น ม.3 จากนั้นก็ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านตามพ่อแม่ โดยไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งนี้เป็นปัญหาสำคัญของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ผมกลับสู่การเรียนอีกครั้ง ปี 2543 เนื่องจากทรัพยากรเริ่มเสื่อมโทรม ทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านที่ทำอยู่ได้รับผลกระทบ จึงเกิดการรวมตัวกันของคนในพื้นที่ ในนามสมาคมประมงพื้นบ้านปัตตานี เพื่อเรียกร้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผมจึงสมัครเรียนสาขาการปกครองท้องถิ่น วชช.ปัตตานี และพบว่า วชช.ตอบโจทย์ได้ ทำให้เกิดกระบวนการคิดใหม่ๆ ที่นำไปปรับใช้ในชุมชนได้” มูหามะสุกรี ย้อนอดีตให้ฟัง
พร้อมบอกว่า นอกจากการเรียนในห้องแล้ว วชช.ยังสร้างอาชีพให้แก่คนในหมู่บ้านตันหยงเปาว์ ที่ส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน เพราะพื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปูทะเล เช่น ปูดำ ปูขาว ปูเขียว ปูทองแดง ซึ่งเหล่านี้ขายได้เพียง กก. 30-50 บาท แต่หากเพิ่มมูลค่าทำเป็นปูนิ่ม ซึ่งชาวชุมชนตันหยงเปาว์ไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าว วชช.ปัตตานี จึงประสานไปที่ วชช.ตราด หาแหล่งเรียนรู้ให้ ทำให้ปัจจุบันชุมชนนี้นำทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างเป็นอาชีพ จากที่เคยขายปูได้ในราคาต่ำ ขณะนี้ขายปูนิ่มได้ กก. 230 บาท ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับ บุญหล่อ หล่ออริยวัฒน์ ศิษย์เก่า วชช.แม่ฮ่องสอน ผู้นำหมู่บ้านสันติชน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เล่าให้ฟังว่า เข้าเรียนใน วชช.เพราะไม่อยากให้คนภายนอกมองว่าชาวจีนยูนนานเป็นพวกค้าขายเสพติด เพราะพื้นที่แห่งนี้ในอดีตเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งคนในหมู่บ้านอยากแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีผู้สนับสนุน ดังนั้น เมื่อ วชช.เข้าไปเปิดการเรียนการสอนใน อ.ปาย ตนในฐานะผู้นำชุมชน จึงสมัครเรียนโดยหวังนำความรู้ไปพัฒนาหมู่บ้าน
"การที่ผมเป็นเพียงผู้นำหมู่บ้านจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพียงคนเดียวเป็นเรื่อง ยาก การได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากหมู่บ้านสันติชน" บุญหล่อ แจง และว่า เมื่อปัญหาดังกล่าวหมดไป แนวคิดการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนจึงเกิดขึ้น โดยระดมความคิดของคนในชุมชน ร่วมกันสร้างศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน จัดกลุ่มต่างๆ เพื่อส่งเสริมรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน เช่น จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงไก่ดำ กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มผักปลอดสารพิษ จนพัฒนาชุมชนขึ้นเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“ช่วงแรกคนในหมู่บ้านเห็นด้วยน้อยมาก แต่จากความพยายาม ทำให้ปัจจุบันหมู่บ้านวัฒนธรรมจีนยูนนานเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ประชากร 192 ครอบครัวมีรายได้จากนักท่องเที่ยว โดยช่วงปีใหม่ปลายปี 2552 เพียงวันเดียวมีรายได้เข้าชุมชนกว่า 3 แสนบาท”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางเสี้ยวบางตอนในบริบทของ วชช.อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสังคมในชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังที่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานสภาวิทยาลัยชุมชน ได้กำหนดกรอบทำงานไว้ว่า “หน้าที่ วชช.คือ ดึงกลุ่มคนทำงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาให้กลับเข้าเรียนเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งด้วยตัวของเขาเอง”
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 30 ธันวาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101230/84218/นำเลี้ยงปูนิ่มพัฒนาท่องเที่ยววิถีสร้างอาชีพของวชช.เพื่อชุมชน.html