เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 53
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ลำไยเป็นหนึ่งในสินค้าที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากเสถียรภาพด้านราคาลำไยที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากและเกิดการกระจุกตัวในช่วงฤดูการผลิต แต่จากการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการลำไยของกระทรวงเกษตรฯ ที่มุ่งเน้นให้ราคาลำไยเป็นไปตามกลไกตลาด การกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในการปลูกนอกฤดูก็พบว่า สถานการณ์ราคาลำไยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านราคาลำไยสดและราคาลำไยอบแห้งที่เกษตรกรขายได้ปี 2553 จะมีราคาเพิ่มขึ้นทั้งหมดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเกรด AA เฉลี่ยอยู่ที่ 32.02 บาท/กก. เกรด A เฉลี่ย 29.30 บาท/กก. และเกรดคละเฉลี่ย 28.37 บาท/กก. ส่วนราคาลำไยอบแห้งที่เกษตรกรขายได้ เกรด AA เฉลี่ย 65.06 บาท/กก. เกรด A เฉลี่ย 46.00 บาท/กก. เกรด B เฉลี่ย 26.35 บาท/กก. และเกรด C เฉลี่ย 12.45 บาท/กก. ขณะที่พื้นที่ให้ผลผลิต พบว่าลดลงเล็กน้อยจาก 968,000 ไร่เศษในปี 2552 เป็น 954,000 ไร่เศษ ในปี 2553 หรือลดลงร้อยละ 1.46 โดยผลผลิตลดลงจาก 623,000 ตันในปี 2552 เป็น 525,000 ตันในปี 2553 หรือลดลงร้อยละ 15.70 ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 643 กก./ไร่ ในปี 2552 เป็น 550 กก./ไร่ ในปี 2553 หรือลดลงร้อยละ 14.46 สาเหตุที่ทั้งพื้นที่ให้ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ในปีที่ผ่านมาตกต่ำ เกษตรกรจึงดูแลรักษาต้นลำไยน้อยลง
นายธีระกล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์ด้านการส่งออกซึ่งถือว่าขณะนี้ประเทศไทยนับเป็นผู้ส่งออก ลำไยรายใหญ่ของโลก โดยมีตลาดส่งออกหลัก เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย และฮ่องกง โดยในปี 2553 การส่งออกลำไยสดและผลิตภัณฑ์มีปริมาณการส่งออก 295,000 ตันเศษ คิดเป็นมูลค่า 5,632 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์การบริโภคภายในประเทศในปี 2553 นั้น พบว่า ความต้องการบริโภคลำไยภายในประเทศมีประมาณ 45,000-50,000 ตัน ซึ่งลดลงจากปี 2552 ซึ่งมีปริมาณ 50,000-55,000 ตัน สาเหตุเนื่องมาจากผลผลิตลดลง ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงส่งเสริมสนับสนุนและรณรงค์โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆให้ประชาชนหันมาบริโภคลำไยเพิ่มขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 30 ธันวาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=242844