อนาคตประมงทะเลลึกของไทย
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 53
อนาคตประมงทะเลลึกของไทย
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “โอกาส อุปสรรค การพัฒนาการประมงทะเลลึกของไทย” ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน ซึ่งกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดจัดขึ้นเพื่อเปิดเวที รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการประมงทะเลลึกของไทยจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งชาวประมง นักวิชาการ ตลอดจนสถาบันการเงิน เพื่อเปิดมิติการพัฒนาการประมงของไทยออกสู่การประมงในทะเลลึกในอนาคต
ในการนี้ นายธีระวงศ์สมุทร รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำประมงทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงนอกและในน่านน้ำสากล ดังจะเห็นได้จาก นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ได้กำหนดนโยบายการเจรจาส่งเสริมความร่วมมือ ด้านการประมงกับต่างประเทศและแผนแม่บทการจัดการทะเลไทย ที่กรมประมงได้จัดทำขึ้น โดยได้กำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริมการทำประมงนอกน่านน้ำไทย เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพชาวประมงของไทยให้มีความสามารถที่จะทำการประมงในแหล่งใหม่ ๆ หรือในบริเวณพื้นที่ที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น
ทางด้าน ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า บริเวณ มหาสมุทรอินเดียจัดเป็นพื้นที่ทำการประมงทะเลลึกที่น่าจับตา เนื่องจากประเทศไทยมีเขตเศรษฐกิจจำเพาะในฝั่งทะเลอันดามันถึง 37,000 ตารางไมล์ ต่อเนื่องไปยังมหาสมุทรอินเดีย โดยไทยมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าทำการประมงในมหาสมุทรอินเดีย เพราะเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการทูน่าในมหาสมุทรอินเดียและที่สำคัญบริเวณดังกล่าวไม่ไกลจากท่าเทียบเรือภูเก็ต ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่มีศักยภาพ ในการรองรับเรือที่ทำการประมงทะเลลึก อีกทั้งยังมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำประมงทะเลลึกของไทยยังไม่ได้มีการพัฒนามากเท่าที่ควร ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินเดีย ได้เดินหน้าจัดทำโครงการปรับเปลี่ยนเรือประมงเข้าไปทำการประมงน้ำลึก อาทิ การปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงอวนลากเป็นเครื่องมือเบ็ดราวทูน่า ซึ่งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้วเป็นระยะเวลากว่า2 ปี ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวประมงไทย มีแนวโน้มและความเป็นไปได้ กรมประมงได้จัดทำโครงการ “ส่งเสริมการพัฒนาการประมงเบ็ดราวทูน่า” ขึ้น และได้นำชาวประมงไปดูงานที่ประเทศอินเดีย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดีย โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันและกระตุ้นให้ชาวประมงมีความมั่นใจ กล้าที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องมือเข้าทำการประมงเบ็ดราวทูน่าในทะเลสากลต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=50818
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง