ลุยปราบเพลี้ยทำลายนาข้าววอนเกษตรกรให้ความร่วมมือ
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 53
ลุยปราบเพลี้ยทำลายนาข้าววอนเกษตรกรให้ความร่วมมือ
จากสถานการณ์
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่ทำลายผลผลิตข้าวของชาวนามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน รวมพื้นที่ประมาณ 1.95 ล้านไร่ ใน 12 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และถึงแม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก็ยังไม่สามารถกำจัดหรือตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้เด็ดขาด ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว และกรมพัฒนาที่ดิน บูรณาการทำงานโดยมีเป้าหมายหลักคือตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคเขียว เตี้ย และโรคใบหงิก ซึ่งมีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นพาหะให้ได้โดยเร็วที่สุด
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้แก้ไขปัญหาเรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดลดลงจาก 1.95 ล้านไร่ คงเหลือ 3.9 แสนไร่ ในพื้นที่ 8 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับความเสียหายขณะนี้รวม 20,681 ราย แต่ยังพบการระบาดของโรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก ในพื้นที่ 11 จังหวัด และมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตข้าวในฤดูการผลิตข้าว รอบที่ 2 และอาจเพิ่มความรุนแรงเป็น 5 - 10 เท่าในฤดูนาในปีถัดไป
อย่างไรก็ตาม การควบคุมสถานการณ์เพลี้ยกระโดดในขณะนี้ถือว่าสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง เท่านั้น ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ออกมาตรการ 3 มาตรการ เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดอย่างรวดเร็วตามที่คณะ รัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินงบประมาณ วงเงิน 1,240 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินจำนวน 501 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และจำนวนเงินอีก 739 ล้านบาท ขอใช้เงินจากเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2554
โดยมาตรการทั้ง 3 ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ยุติการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคใบหงิก และโรคเขียวเตี้ย โดยการไถกลบต้นข้าวในพื้นที่ที่มีโอกาสเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ซึ่งจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว พร้อมกับให้กรมการข้าวสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ทนทานต่อโรคให้เกษตรกรในอัตราไร่ละ 15 กิโลกรัม มาตรการที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และมาตรการที่ 3 การป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างยั่งยืน ด้วยการปฏิรูประบบการปลูกข้าวใหม่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าหมายในการรณรงค์ให้เกษตรกรพักนาในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน และให้เริ่มต้นปลูกข้าวรอบใหม่ในเดือนพฤษภาคมต่อไป ถ้าทำตามมาตรการที่กำหนดไว้เชื่อมั่นว่านอกจากจะเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาด ไม่ให้ขยายวงกว้างแล้วยังเป็นการป้องกันความเสียหายของผลผลิตของเกษตรกรอีกด้วย
กระทรวงเกษตรฯ ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ประสบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหรือโรคใบ หงิกและโรคเขียวเตี้ยด้วยการ “พักนา” เพื่อตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้หมดไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 มีนาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=51477
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง