เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 53
ก่อนไปขายนา กลับมาเสียเมีย สโลแกนที่ยังคงเป็นไปได้ หากคนนั้นยังต้องการเดินทางไปขายแรงงานในต่างประเทศ
นายบัวลี ทินพิษ วัย 65 ปี ประธานกลุ่มเลี้ยงปลานิลบ้านขี้เหล็ก ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม บอกว่า เมื่อ 30 ปีก่อนนี้ เคยไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยมีความถนัดช่างไม้-ช่างปูน แต่ถูกส่งไปในตำแหน่งกรรมกร ถือว่าล้มเหลวซึ่งก็อดทนอยู่หลายปีแต่ก็ห่วงลูกและเมียจึงกลับมายึดอาชีพ เลี้ยงปลานิลในกระชัง ถือเป็นคนแรกๆในพื้นที่ ได้เคยไปดูและศึกษาการเลี้ยงปลาในกระชังจากพื้นที่อื่นๆมา และเห็นว่าบ้านเรานั้นสภาพน้ำในแม่น้ำยังดีก็น่าจะเลี้ยงปลาได้ อีกทั้งตอนนั้นคู่แข่งในตลาดมีไม่มากจึงตัดสินใจลงทุน ท่ามกลางเสียงทักท้วงจากหลายคน แต่เราก็ไม่ย่อท้อ
เริ่มลงมือ เลี้ยงราวๆปลายปี 2540 ตอนนั้นยังไม่สะดวกแบบสมัยนี้ กระชังอะไรก็ต้องคิดดัดแปลงทำเองหมด ราคาอาหารปลาตกลูกละ 360 บาท ลูกหนึ่งราว 20 กิโลกรัม เลี้ยงปลานิล 1,000 ตัว ใช้อาหารปลาราวๆ 20 ถุง ปรากฏว่ายังไม่ครบ 80 วัน ก็มีพ่อค้าปลาวิ่งเข้ามาขอซื้อ โดยให้ราคากิโลกรัมละ 40 บาท ตอนนั้นเลี้ยงกระชังหนึ่งได้น้ำหนัก ปลาเฉลี่ย 600-700 กิโลกรัม เลี้ยงทั้งหมด 6 กระชัง ได้เป็นเงินจำนวนมากโขอยู่ ทีนี้พอคนอื่นเห็นว่ามันเป็นไปได้ก็เลยเริ่ม หันมาเลี้ยงตามๆกัน
ลุงบัวลี บอกอีกว่า ใช่ว่าทำแล้วจะสำเร็จเหมือนกันทุกคน...บางคนเห็นคนอื่นเลี้ยงได้เงินก็คิด เลี้ยงบ้างมาขอความรู้ ซึ่งก็เป็นตำราเล่มเดียวกัน แต่พอไปเลี้ยงจริงปรากฏว่าผลผลิตได้ไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นปลาชนิดเดียวกัน แหล่งน้ำเดียวกัน อาหารยี่ห้อเดียวกัน...สิ่งที่แตกต่างกันคือ ความตั้งใจและการเอาใจใส่ เลี้ยงปลาก็เหมือนทำนา ถ้าไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักระเบียบวินัย ทำยังไงก็ไม่ได้ดี ซึ่งปัจจุบันก็เลือกที่จะใช้ระบบ "คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง" กับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส CPF บอกว่า รูปแบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งดั้งเดิมที่แบ่งความเสี่ยงแบกรับกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีผลดีต่อเกษตรกรคือมีที่ขายของแน่นอน ขณะที่โรงงานก็มีวัตถุดิบป้อนแน่ๆนั้น ต่อมารูปแบบดั้งเดิมได้ถูกนำมาพัฒนาขึ้น จนกลายมาเป็นการประกันรายได้, ประกันราคาสินค้าล่วงหน้า ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน
"เกษตรกร ยังสามารถประกอบอาชีพได้ด้วยตัวเอง เหมือนเช่นกรณีของคุณลุงบัวลี ที่ดูแลเอง เลี้ยงเอง ลงทุนเอง แต่ทางตัวแทนจำหน่ายที่บริษัทเข้าไปร่วมด้วยจะทำการประกันการรับซื้อคืนให้ โดยทางเจ้าหน้าที่จะช่วย ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งเลี้ยงในธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนและลดมลพิษที่เกิดขึ้น รวมถึงนำเรื่องการจัดการเข้ามาช่วยเรื่องการตลาดด้วย" นายอดิศร์ กล่าวและว่า
สินค้าเกษตรที่มีมากหรือน้อยนั้น ถ้ามีการจัดการวางแผนที่ดีด้วยระบบ "คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง" ที่เหมาะสม ผลกระทบก็จะน้อย แต่ทางบริษัทก็จะไม่ไปฝืนใจทางชุมชนต้องเป็นคนตัดสินใจเอง แต่ก็ยืนยันได้ว่าระบบนี้ มีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 มีนาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/68177