เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 53
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยว่า ขณะนี้ได้มีปัญหาแมลงนูนหลวงแพร่ระบาดทำลายอ้อยในพื้นที่ 5 ตำบล ของ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และพื้นที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย อ.ท่าม่วง และ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมเนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ โดยมีแนวโน้มแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งนอกจากแมลงนูนหลวงจะเข้าทำลายอ้อยแล้ว ยังทำลายพืชเศรษฐกิจอื่นด้วย เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส มันแกว และผักกาดขาว เป็นต้น โดยหนอนของแมลงดังกล่าวจะกัดกินบริเวณรากทำให้พืชยืนต้นตาย เบื้องต้นได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยพืชไร่ เร่งควบคุมและป้องกันกำจัดแมลงนูนหลวงก่อนที่จะแพร่ระบาดขยายลุกลามไปสู่พื้นที่อื่น ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาวได้
"เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องเฝ้าระวังและหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงที่มีความแห้งแล้งติดต่อกันยาวนาน โอกาสที่แมลงนูนหลวงจะระบาดเข้าทำลายอ้อยอาจรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งระยะตัวหนอนของแมลงนูนหลวงจะกัดกินรากอ้อย ทำให้ต้นอ้อยเกิดอาการใบเหลืองและแห้งตายมากผิดปกติ"
ส่วนวิธีแก้ไข นายสมชายกล่าวว่า หากตรวจพบแมลงนูนหลวงตัวเต็มวัยภายในแปลงควรจับไปทำลายทิ้งทันที นอกจากจะประหยัดแล้วยังสามารถช่วยลดประชากรแมลงนูนหลวงได้มาก สำหรับไร่อ้อยที่ถูกทำลายมาก และคาดว่าจะได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าการลงทุนควรรีบไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง เพื่อทำลายไข่และหนอนที่อยู่ในดินก่อนปลูกอ้อย ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกัน สารที่ใช้ได้ผลดี คือ สารไฟโปรนิล (fipronil) อัตรา 80-250 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นไปตามร่องอ้อยปลูกใหม่ ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ระยะหนอนเริ่มฟักออกจากไข่ประมาณกลางเดือนมีนาคม สำหรับอ้อยตอให้เปิดหน้าดินออกทั้งสองด้านของแถวอ้อย ห่างจากกออ้อยประมาณ 8 นิ้ว แล้วพ่นสารดังกล่าวไปตามร่องอ้อยที่เปิดหน้าดินออกแล้วเอาดินกลบ นอกจากนี้เกษตรกรควรปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของแมลงนูนหลวงด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 3 มีนาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=201697