'บรรจุภัณฑ์ผลไม้สด' ชนะเลิศระดับประเทศ
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 53
'บรรจุภัณฑ์ผลไม้สด' ชนะเลิศระดับประเทศ
สมัยก่อนคนไม่เห็นความสำคัญของบรรจุภัณฑ์กันเท่าใดนัก โดยเฉพาะคนไทย ที่ให้ความสำคัญของตัวสินค้ามากกว่าสิ่งภายนอกที่นำมาห่อหุ้ม แต่ทุกวันนี้คนไทยให้ความสำคัญของบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ด้วยตระหนักว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคประทับใจเป็นอันดับแรกก่อนที่จะเห็นตัวสินค้า นอกจากประโยชน์ด้านอื่น เช่น ป้องกันสินค้าไม่ให้กระแทก อันอาจทำให้สินค้าชำรุดเสียหายได้ ยิ่งหากเป็นสินค้าสำหรับส่งออกแล้ว ก็ยิ่งมีการแข่งขันทางด้านบรรจุภัณฑ์กันมากเพราะชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์พอ ๆ กับตัวสินค้าทีเดียว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักบริการส่งออก 1 กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย และบริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ได้จัด ประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลไม้สดและกล้วยไม้สด ขึ้นโดยมีหัวข้อและแนวคิด การประกวดคือฟิวเจอร์...เฟรช ซึ่งการประกวดมีนิสิต นักศึกษาและผู้สนใจร่วมส่งผลงานเข้าประกวดมากมาย ขอนำบุคคลที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในครั้งนี้ 2 คน คือ คนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และอีกคนได้รับรางวัลที่ 2 ซึ่งทั้งสองคนเป็นนิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปผลิตและใช้ใน อุตสาหกรรมส่งออกผลไม้ได้จริง
รางวัลชนะเลิศ 1 ได้แก่ นางสาวกนกวรรณ สังสรรค์ศิริ นิสิตปีที่ 4 ออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับมังคุดเพื่อการส่งออก ได้รับรางวัลชนะเลิศ เงินสด 40,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ โดยมีแนวความคิดในการออกแบบคือ สามารถเป็นได้ทั้งบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งและบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย โครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ตอบสนองการขนส่งหรือลำเลียงสินค้า สามารถวางเรียงซ้อนได้อย่างแข็งแรง โดยด้านบนของกล่องมีปีกรองรับกล่องที่วางเรียงซ้อนโดยไม่ให้มีการลื่นไหลหรือตกได้ง่าย อีกทั้งยังประหยัดเนื้อที่ในการขนส่ง ตัวกล่องสามารถพับแสดงให้เห็นสินค้าภายในกล่องได้อย่างชัดเจน รูปแบบของกล่องช่วยประหยัดกระดาษในการขึ้นรูปและขึ้นรูปได้ง่าย นอกจากนี้การใช้งานในการเปิดนำสินค้าออก หรือปิดเมื่อรับประทานไม่หมด รวมถึงการ ดิสเพลย์ ง่ายต่อการใช้งาน โดยใช้การสื่อสารด้านกราฟิก การจัดองค์ประกอบของรูปภาพ สีสัน ตัวอักษรและตราสินค้าได้อย่างสวยงามลงตัว
อีกคน นางสาวปัทมา ตะวงษา นิสิตปีที่ 4 ได้รับรางวัลที่ 2 ออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับสับปะรดเพื่อการส่งออก ได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ โดยมีแนวคิดในการออกแบบคือ สามารถเป็นได้ทั้งบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง และบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย มีโครงสร้างเรียบง่าย สามารถพับแสดงให้เห็นสินค้าภายในกล่องได้ชัดเจน ผู้บริโภคสามารถซื้อปลีกโดยมีบรรจุภัณฑ์ที่หิ้วไปได้โดยไม่ต้องรวมถุงใส่อีกชั้นเพราะกล่องมีหูหิ้ว อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการหิ้วถือกลับบ้าน สามารถเปิดนำสินค้าออกมารับประทานได้สะดวก ประหยัดเนื้อที่ในการขนส่ง และใช้การสื่อสารด้านกราฟิกที่เข้าใจง่าย
ซึ่งนิสิตที่ชนะการประกวดทั้งสองคนได้ศึกษาและฝึกงานกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ พร้อมทั้งได้เดินทางไปดูงานในงานแสดงสินค้า ณ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
และผลงานบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลทั้งสองชิ้นนี้ จะได้นำไปแสดงในงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ ไทยเฟ็กซ์ 2010 ที่เมืองทองธานี ในเดือนพฤษภาคม 2553 ด้วย
กล่าวถึงนิสิตแล้วขอกล่าวถึงสถาบันไปด้วยเลย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จะร่วมมือในการพัฒนาการวิจัยเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการสร้างองค์ความรู้ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศ โดยความร่วมมือในการวิจัยมีกำหนด 3 ปี มีการจัดตั้ง 3 ศูนย์คือ
1.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทดสอบผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการผลิตสัตว์
2.ศูนย์วิทยาการส้มโอ
3.ศูนย์วิทยาการสุขภาพเป็ด
สำหรับความคืบหน้าจะนำมาเสนอต่อไปในภายภาคหน้า.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 มีนาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=52648
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง