แผนรับมือผลไม้ภาคตะวันออก
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 53
แผนรับมือผลไม้ภาคตะวันออก
จากการที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดระยอง ได้สำรวจข้อมูลการผลิตผลไม้ในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด คาดการณ์ว่า ปี 2553 นี้จะมีผลผลิตทุเรียน ออกสู่ตลาด รวม 332,160 ตัน ลดลงจากปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 3 หรือประมาณ 11,313 ตัน เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลลดลงเหลือ 262,569 ไร่ เพราะมีการโค่นต้นทุเรียนทิ้งบางส่วน สาเหตุเกิดจากปัญหาโรคโคนเน่า ด้วงเจาะลำต้น ต้นอายุมากทรุดโทรม และราคาทุเรียนพันธุ์ชะนีที่ไม่จูงใจทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ยาง พารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น โดยผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคม แต่จะกระจุกตัวสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถ้าอากาศร้อนจัดทุเรียนอาจแก่และสุกขึ้นเร็วได้
นายอนันต์ ลิลา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับมังคุด มีเนื้อที่ให้ผลโดยรวม 161,516 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 125,650 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15,144 ตัน คิดเป็นร้อยละ 14 เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ประกอบกับมังคุดออกดอกติดผลดก ทำให้ผลมังคุดที่ได้มีขนาดเล็กและไม่ได้ขนาดเพื่อส่งออกในปริมาณสูง โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคม แต่กระจุกตัวมากช่วงเดือนพฤษภาคม
ถึงแม้ปีนี้สวนเงาะใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก จะมีเนื้อที่ให้ผลลดลงเหลือ 173,893 ไร่ เนื่องจากมีการโค่นทิ้งเพราะราคาเงาะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ยางพารา มะปราง ขนุน กล้วยไข่ แต่สภาพอากาศมีความเหมาะสม เงาะจึงออกดอกมาก ทำให้มีผลผลิต เฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 1,328 กิโลกรัม/ไร่ คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตรวม 230,846 ตัน เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 6,431 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3 โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม และจะกระจุกตัวสูงในช่วงเดือนพฤษภาคม
ส่วนลองกอง ระยะนี้อยู่ในช่วงออกดอก ดอกบาน และติดผลเล็กบ้างบางส่วน คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตโดยรวม 63,876 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2,834 ตัน คิดเป็นร้อยละ 5 เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น จากขนาดต้นและทรงพุ่มที่โตขึ้นตามอายุ ซึ่งผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน แต่จะกระจุกตัวสูงในช่วงเดือนมิถุนายน
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ปีนี้อาจเกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพของผลผลิตโดยเฉพาะปัญหาทุเรียนอ่อน และ มังคุด ผลเล็กตกไซซ์ ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ต้นทุเรียนจึงออกดอกหลายรุ่น ขณะที่มังคุดออกดอกดกมาก ทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนน้ำและอากาศร้อนจัดทำให้ผลมังคุดไม่ขยายตัว เกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วขึ้นเพื่อหนีภัยแล้ง และบางรายขาดความรับผิดชอบโดยหวังจะได้ราคาสูงจึงเก็บทุเรียนอ่อนส่งขาย นอกจากนั้นยังประสบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากผลผลิตออกกระจุกตัวมากในช่วงกลางฤดู โดยทุเรียน เงาะ และมังคุดจากภาคตะวันออก จะออกมาชนกับลิ้นจี่ภาคเหนือ ในเดือนพฤษภาคม และยังมีผลไม้ภาคใต้ออกมาพร้อมกับลำไยภาคเหนือช่วงเดือนกรกฎาคมด้วย
ขณะนี้กรมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่เร่งรัดประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพผลไม้ โดยให้คำแนะนำทางวิชาการที่ถูกต้องแก่เกษตรกร ขณะเดียวกันยังได้เสนอ โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตไม้ผล ปี 2553 เพื่อขอใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนำมาสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรก่อนเก็บเกี่ยว พร้อมพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการผลผลิตและบริหารจัดการธุรกิจของสถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลในพื้นที่
ส่วนการป้องกันแก้ไขปัญหาตลาดผลไม้ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้เน้นให้จังหวัดเป็นแกนหลักในการจัดทำแผนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยมีส่วนกลางให้การสนับสนุน และให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับ จังหวัด เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการและกำกับดูแลการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ใน พื้นที่
โดยดึงเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฯ อย่างแท้จริง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 มีนาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=53987
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง