เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 53
นางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยประเภทต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ไปสู่การใช้ประโยชน์ แก่ รศ.ดร.ประจักษ์ ตาบทิพย์วรรณ และคณะจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำการวิจัยแนวทางการจัดเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และการใช้ฮอร์โมนฉีดกระตุ้นการวางไข่ปลาเสือตอ
ทั้งนี้ เพื่อศึกษาแนวทางการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และทดสอบการตอบสนองของปลาเสือตอที่ฉีดฮอร์โมนกระตุ้น โดยจากการติดตามการเจริญเติบโตและความแตกต่างของลักษณะเพศ โดยนำปลาที่คาดว่า จะมีไข่และมีน้ำเชื้อเข้าไปผ่าท้องเพื่อดูการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ และทดสอบการขยายพันธุ์ด้วยการใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองปลาไน และฮอร์โมนสังเคราะห์ในระดับ 0.5 โดส หรือ 5 มิลลิกรัมในเข็มที่ 1 และ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในเข็มที่ 2 ทำให้เหนี่ยวนำเกิดการตกไข่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปลาเสือตอที่ได้รับฮอร์โมนจากการฉีดกระตุ้นจะมีความสมบูรณ์พันธุ์มาก ทั้งน้ำเชื้อของปลาเพศผู้และการพัฒนาของเซลล์เพศเมียในรังไข่ที่แสดงความ พร้อมที่จะขยายพันธุ์ ซึ่งกรรมวิธีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการผสมพันธุ์ปลาชนิดอื่นๆ ได้
อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับสภาพของบ่อที่ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป มีความลึกของน้ำประมาณ 80 เซนติเมตรถึง 1.50 เมตร อุณหภูมิน้ำประมาณ 26 - 30 องศาเซลเซียส มีความเป็นกรดด่างที่เหมาะสม มีปริมาณแอมโมเนียไนเตรท และไนไตร์ทที่เหมาะสม
ทั้งนี้ปลาเสือตอนับว่าเป็นปลาสวยงามที่จัดอยู่ในสถานภาพปลาสูญพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย แต่สามารถพบในแหล่งน้ำธรรมชาติแถบ จ.นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี และยโสธร ซึ่งเป็นปลาเสือตอลายเล็ก ราคาซื้อขายขนาดตัวละ 2 นิ้วประมาณ 20-50 บาทต่อตัว หากนำเข้าจากแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศกัมพูชาจะมีราคาสูง เนื่องจากเป็นปลาเสือตอลายใหญ่และลายคู่ ดังนั้นการเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการฉีดฮอร์โมนกระตุ้น จึงเป็นการเพิ่มจำนวนปลาเสือตอในธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 15 มีนาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=203356