เปิดยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรสร้างเสถียรภาพเกษตรไทย
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 53
เปิดยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรสร้างเสถียรภาพเกษตรไทย
หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งคณะทำงานติดตามเร่งรัดการจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร ขณะนี้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรได้คลอดออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งเป็น ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 21 ยุทธศาสตร์ 26 รายสินค้า ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีความมุ่งหวังที่จะสร้างประสิทธิภาพในด้านการผลิต สินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตรให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รองรับความเป็นผู้นำที่จะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกในอนาคต
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงเรื่องดังกล่่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานติดตามเร่งรัดการจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร ได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์รวมทั้งหมด 21 ยุทธศาสตร์ 26 รายสินค้า ซึ่งทั้ง 21 ยุทธศาสตร์ มีทั้งสินค้าที่ได้ดำเนินการแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์ จากการพิจารณาความสำคัญของแต่ละสินค้าในประเด็นต่าง ๆ เช่น มูลค่าผลผลิต มูลค่าการส่งออก จำนวนครัวเรือนเกษตรกรผู้ผลิต รวมทั้งปัจจัยผลกระทบจากการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร และการเปิดการค้าเสรี เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดหน่วยงานหลัก หน่วยงานรองและผู้ประสานติดตาม การยกร่างยุทธศาสตร์หรือติดตามการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ซึ่งมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ดูแล 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ไก่เนื้อ โคนม สุกร ไก่ไข่ โคเนื้อ กระบือและแพะ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดและถั่วเหลือง กรมวิชาการเกษตร 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงานและกาแฟ กรมประมง 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ กุ้งไทยและปลานิล กรมส่งเสริมการเกษตร 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ไม้ผลและกล้วยไม้ กรมการข้าว 1 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ข้าว และกรมหม่อนไหม 1 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ หม่อนไหม
ขณะเดียวกันยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานยกร่างยุทธศาสตร์ที่ไม่มีคณะกรรมการกำกับดูแลโดยตรง มีจำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานยกร่างยุทธศาสตร์ถั่วเหลือง แพะ และอ้อยโรงงาน เพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว และนำเสนอตามขั้นตอน ต่อไป
ในส่วนของความคืบหน้ายุทธศาสตร์แต่ละสินค้านั้น เลขาฯ อภิชาต เล่าว่า จากจำนวนทั้งหมด 21 ยุทธศาสตร์ขณะนี้ พบว่า ยุทธศาสตร์ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วจำนวน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ข้าว ไม้ผล ปาล์มน้ำมัน กาแฟและไก่ไข่ อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี จำนวน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ยางพารา สับปะรด ไก่เนื้อ และสุกร อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการนโยบายระดับกระทรวงหรือระดับชาติ จำนวน 9 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หม่อนไหม กล้วยไม้ โคเนื้อ กระบือ แพะ กุ้งไทยและปลานิล และอยู่ระหว่างนำเสนอคณะอนุกรรมการ/ คณะกรรมการที่รับผิดชอบจำนวน 3 ยุทธ ศาสตร์ ได้แก่ยุทธศาสตร์อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง และโคนม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งติดตามและดำเนินการในแต่ละยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะช่วยให้สามารถกำหนดปริมาณการผลิตตามความต้องการใช้ภายในประเทศทั้ง การบริโภค อุตสาหกรรม รวมถึงการส่งออก และยังผลักดันให้เกิดการเพิ่ม ผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพการผลิตให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากมาตรการในแต่ละยุทธศาสตร์จะกำหนดรายละเอียดครอบคลุมไปถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การสร้างเสถียรภาพทางราคาและปรับฐานบริหารจัดการ ซึ่งมีการระบุงบประมาณและหน่วยงานรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้การดำเนินงานเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ
หากยุทธศาสตร์ทั้งหมดที่กระทรวงเกษตรฯ จัดทำขึ้นนี้ประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็พอจะเห็นอนาคตที่สดใสของเกษตรกรไทยรออยู่ไม่ไกล.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มีนาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=54170
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง