เมื่อวันที่ 7 มกราคม 53
การพักนาไม่ปลูกข้าวจะเป็นการตัดวงจรชีวิตของทั้งโรคไวรัสและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่เป็นแมลงพาหะด้วย นอกจากนั้นควรเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุก 4 ฤดู และใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 1 พันธุ์ เพื่อลดความเสี่ยง
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมาตรการในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรง โดยสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าวเข้าไปทดสอบการใช้สารฆ่าแมลง โดยเพิ่มอัตราการใช้สารเป็น 2-3 เท่าของอัตราปกติ แต่ไม่สามารถควบคุมการระบาดลงได้จนถึงระดับที่น่าพอใจ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเพราะยังมีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากรายงานของศูนย์อำนวยการควบคุมกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พบว่าขณะนี้มีพื้นที่การระบาดแล้วกว่า 2 ล้านไร่ ใน 14 จังหวัด คือ พิษณุโลก อ่างทอง อุทัยธานี นนทบุรี กำแพงเพชร ปทุมธานี นครสวรรค์ สิงห์บุรี พิจิตร ชัยนาท เพชรบูรณ์ ลพบุรี สุพรรณบุรี และนครนายก ดังนั้น แนวทางหยุดการระบาดได้โดยการตัดพืชอาหารของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ลดลง ด้วยการชะลอการปลูกข้าวในฤดูถัดไปอย่างน้อย 1 เดือน หรือเลื่อนการปลูกข้าวออกไปจนกว่าจะไม่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอพยพเข้ามาใน พื้นที่ โดยการสังเกตจากแมลงที่มาเล่นไฟมีจำนวนน้อย และยังพบโรคไวรัส 2 ชนิดในนาข้าว คือโรคใบหงิก (โรคจู๋) และโรคเขียวเตี้ย
"การพักนาไม่ปลูกข้าวจะเป็นการตัดวงจรชีวิตของทั้งโรคไวรัสและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่เป็นแมลงพาหะด้วย นอกจากนั้นควรเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุก 4 ฤดู และใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 1 พันธุ์ เพื่อลดความเสี่ยง เช่น ข้าวพันธุ์ กข29 และ กข31 ส่วนเกษตรกรรายใดที่ปลูกข้าวไปแล้วไม่ควรใช้สารอะบาเม็กติน และสารฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (ยาน็อก) เนื่องจากเป็นสารที่มีพิษต่อศัตรูธรรมชาติต่างๆ เช่น มวนเขียวดูดไข่ แมงมุม ส่งผลให้ระบบนิเวศในนาข้าวเสียสมดุลซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอยู่จนถึงขณะนี้" อธิบดีกรมการข้าวกล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 7 มกราคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/57181