เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 53
เพื่อให้ผลิตผลทางการเกษตรสามารถส่งออกได้อย่างฉลุย ในยุคเปิดการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) อาจารย์วีระ ภาคอุทัย สังกัดภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการวิจัย "การขยายและการพัฒนาเครือข่ายการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัย อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ" ขึ้น โดยฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนทุนวิจัย
อาจารย์วีระ เปิดเผยว่า พริกเป็นพืชเกษตรที่สร้างรายได้ เชื่อมโยงระดับคุณภาพชีวิตตั้งแต่พื้นที่ชุมชนเล็กๆ ไปจนถึงขั้นการส่งออก ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 474,717 ไร่/ปี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแหล่งที่ปลูกมากอยู่ในแถบจังหวัดนครราชสีมา รองลงมาคือจังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่การปลูกประมาณ 53,463 ไร่ ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่มุ่งส่งออกไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
เพื่อเป็นการยกระดับผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ทีมวิจัยจึงได้ดำเนินงานศึกษาเพื่อหาแนวทางเพื่อสร้างขีดความสามารถในการผลิต "พริกสด" ในพื้นที่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ โดยทำการวิเคราะห์หารูปแบบการจัดการผลผลิต เครือข่าย และช่องทางตลาดที่เหมาะสม พร้อมทั้งขยายและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตพริกในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพริกปลอดภัยภายใต้ระบบ GAP (Good Agricultural Practice)
สำหรับการวิจัย เริ่มจาก วิเคราะห์หารูปแบบ ขั้นตอนในการผลิต ด้วยการให้เกษตรกรใช้น้ำจากแหล่งที่สะอาดปราศจากสารพิษ ปรับปรุงดินไม่มีเชื้อโรค และสารพิษตกค้างสำหรับปลูกพืช ทำปุ๋ยหมักปุ๋ยชีวภาพใช้เอง เก็บและใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามคำแนะนำที่ปลอดภัย สำรวจศัตรูพืชและป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง อบรมวางแผนควบคุมความเสี่ยงเพื่อให้ผลผลิตมีความปลอดภัยได้คุณภาพ เก็บเกี่ยวผลผลิตถูกเวลาและถูกวิธี ขนย้ายและเก็บรักษาผลผลิตสะอาดและปลอดภัย และจดบันทึกการปฏิบัติทุกขั้นตอน เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ เป็นการยกระดับด้านปริมาณและคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค
หลังสิ้นสุดโครงการวิจัย พบว่า เกษตรกรเข้าใจความต้องการของตลาด เห็นถึงความสำคัญการผลิตในระบบปลอดภัย ซึ่งวัดได้จากการเกิดเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกพริกปลอดภัยเพิ่มขึ้นรวม 271 ราย ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q จำนวน 141 ราย (52 เปอร์เซ็นต์) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถผลิตพริกปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) เพิ่มขึ้นไร่ละ 50 กิโลกรัม สามารถขายพริกสดในช่วงฤดูแล้ง สายพันธุ์ลูกผสม ได้ราคาที่สูงกว่าพริกทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 3-8 บาท ที่สำคัญ ตลาดแถบอเมริกา ยุโรป และอาเซียนหลายประเทศ ต่างให้ความสนใจพริกสดคุณภาพจากพื้นที่จังหวัดชัยภูมิมากขึ้น
การวิจัยพัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่ฯ นอกจากช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้ บริโภคได้อย่างปลอดภัย ยังเป็นการยกระดับให้มีคุณภาพมาตรฐานสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในยุคการค้าเสรี.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 22 มีนาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/71996