เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 53
ปัญหาที่มักพบในการทำฟาร์มปศุสัตว์ คงหนีไม่พ้นเรื่องกลิ่นเหม็นจากของเสีย ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น "ระบบการจัดการ" เพื่อลดการก่อเกิดมลภาวะต่างๆจึงถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรผู้ เลี้ยงและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ เหมือนดังเช่นฟาร์ม นางเสาวลักษณ์ เหลืองเรณู เกษตรกรฟาร์มไก่ไข่ ตำบลท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
นางเสาวลักษณ์ เล่าให้ฟังว่า เดิมทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่อยู่ในหมู่บ้าน แต่ช่วงหน้าฝนมักมีปัญหาทั้งน้ำท่วมภายในฟาร์ม และเรื่องกลิ่นรบกวนชุมชน จึงย้ายออกมาแห่งใหม่ ภายในฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ทั้งหมด 62,000 ตัว มูลไก่ที่ได้ตักเป็นมูลสดส่งขายให้กับบ่อปลาถังละ 9 บาท และตากแห้ง ซึ่งมีปัญหาช่วงหน้าฝน ในเรื่องการขนส่ง กลิ่น แมลง ที่ก่อเชื้อโรค และส่งผลต่อสุขภาพไก่ไข่
ในช่วงแรกๆ จึงให้คนงานขนมูลออกมาผึ่งหน้าพัดลมหลังเล้าให้แห้งส่งขายชาวสวนทั่วไป ให้ขายได้ง่ายขึ้น แต่ต้องเพิ่มพนักงาน การจัดการยุ่งยากมากขึ้น ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ ซีพีเอฟ. ได้พาไปดูงานการก่อสร้างระบบบ่อไบโอแก๊ส (Bio-gas) แบบ Plug Flow ที่มูลนิธิวัดสระแก้ว ระบบนี้นอกจากช่วยให้ง่ายต่อการจัดการภายในฟาร์ม สามารถล้างมูลทำความสะอาดโดยไม่ต้องเสียแรงงานขนออกนอกเล้าแล้วยังมีพลังงานทดแทนไว้ใช้ภายในฟาร์ม
หลังคิดคำนวณเห็นว่า "เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด" จึงตัดสินใจก่อสร้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ซีพีเอฟ.คอยให้คำแนะนำปรึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ รวมทั้งเงินทุนส่วนหนึ่ง ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง กระทั่งสามารถใช้งานได้ ทาง กรมควบคุมมลพิษจะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง นอกจากเป็นการแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จทั้งมูลไก่ แมลงวัน กลิ่นแอมโมเนียในเล้า
ยังช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยจ่ายค่าไฟเดือนละ 70,000 บาท หลังก่อสร้างเสร็จแล้วเปิดใช้งานจ่ายค่าไฟเพียง 20,000 บาท โดยการเปิดใช้ไฟจะอยู่ในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนตั้งแต่เวลา 22.00 น. จะใช้ไฟภูมิภาค เพื่อให้เครื่องได้หยุดพัก ทั้งนี้ระบบไบโอแก๊สดังกล่าวหลังผ่านขบวนการต่างๆ จะเหลือกากตะกอน
เพื่อเป็นการต่อยอด "ทำทุกอย่างให้กลายเป็นเงินอย่างมีคุณภาพ" จึงนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ตอนแรกนำมาใช้เองใส่ในนาข้าว ต้นไม้ในฟาร์ม และให้พนักงานในฟาร์มทดลองไปใส่นาข้าว ผลออกมาดีจึงคิดทำปุ๋ยอัดเม็ดขายเป็นรายได้เสริม และเพื่อให้ปุ๋ยมีคุณภาพ จึงเข้าไปขอคำแนะนำจากกรมพัฒนาที่ดิน
สำหรับขั้นตอนการผลิตหลังการเลี้ยง 45 วัน จะชักกากตะกอนที่ได้จากบ่อฯ ซึ่งแต่ละครั้งได้ประมาณวันละ 1.5 ตัน มาผ่านขบวนการขึ้นรูป ใส่ค่าอินทรียวัตถุตามเกณฑ์ เป่าด้วยลมร้อนให้แห้ง แล้วนำไปตรวจสอบคุณภาพกับทางกรมพัฒนาที่ดิน กระทั่งผ่านเกณฑ์ได้การรับรอง ทุกวันนี้ชาวสวนปาล์มเริ่มสั่งซื้อไปใช้กันแล้วหลายแห่ง
ในการมุ่งสู่อาชีพเกษตรกร ถ้าเราสามารถเอาของเสียที่เกิดขึ้นมาเพิ่มมูลค่า จะช่วยทำให้คุ้มต่อการลงทุน แม้บางคนจะมองว่าลงทุนสูง แต่ถ้า "ทำทุกอย่างให้เป็นเงิน และมีคุณภาพ" ใช้เวลาไม่นานก็สามารถคืนทุนได้
สำหรับ เกษตรกรรายใดที่สนใจด้านระบบการจัดการหรือปุ๋ยอัดเม็ดคุณภาพ สามารถกริ๊งกร๊างสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ที่ โทร.08-1587-4281, 08-5825-8449 ได้ในวันเวลาที่เหมาะสม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 มีนาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/72402