พืชอาหารและพืชพลังงานทดแทนในเขตนิคมสหกรณ์
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 53
พืชอาหารและพืชพลังงานทดแทนในเขตนิคมสหกรณ์
วิกฤติพืชอาหารและพลังงานในปัจจุบัน นับเป็นปัญหาใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขวบปีหลังมานี้ ประเทศผู้ผลิตข้าวซึ่งเป็นพืชอาหารที่สำคัญของโลก ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง นอกจากนี้ยังมีการนำพืชอาหาร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้นไปอีก ทำให้มีการปรับพื้นที่ปลูกพืชเพื่อไปเป็นพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก พื้นที่ในการปลูกพืชอาหารจึงมีจำนวนลดลง ทำให้ผลผลิตพืชอาหารลดน้อยลงตามไปด้วย ทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตกกังวลว่าอาหารจะขาดแคลนและราคาสูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศให้มีความยั่งยืน มั่นคง ภายใต้นโยบาย เกษตรเพื่อเกษตร มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้ความสำคัญในการลดรายจ่ายของเกษตรกร ลดต้นทุน ควบคุมปัจจัยการผลิต การพัฒนาพันธุ์ และการจัดตั้งนิคมการเกษตร เกษตรเพื่อประชาชน ขึ้น มีการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่รองรับสถานการณ์ขาดแคลนในอนาคต และเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ มุ่งเน้นให้การผลิตทางการเกษตรเป็นฐานในการสร้างรายได้แก่ประเทศชาติ ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน
จึงได้จัดทำโครงการเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ด้วยการจัดตั้งนิคมการเกษตรพืชอาหารและพลังงานทดแทนในสินค้า 5 ชนิด คือ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ หรือพื้นที่ ส.ป.ก. โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินโครงการ
นายเลอพงษ์ มุสิกะมาน รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่าโครงการจัดตั้งนิคมการเกษตรพืชอาหารและพลังงานทดแทน ได้ให้สหกรณ์นิคม ในเขตนิคมสหกรณ์ เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการนิคมการเกษตรทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการทางการตลาด ในพื้นที่นิคมสหกรณ์แม่สอด จ.ตาก โดยมีสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด และสหกรณ์นิคมแม่ระมาด จำกัด ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ดอนตาล จ.มุกดาหาร มีสหกรณ์นิคมดอนตาล จำกัด และสหกรณ์นิคมดอนตาลสอง จำกัด ทำการผลิตอ้อย ในพื้นที่นิคมสหกรณ์โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี มีสหกรณ์นิคมสอยดาว จำกัด ผลิตมันสำปะหลัง และในพื้นที่นิคมสหกรณ์ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี มี สหกรณ์นิคมวิภาวดี จำกัด ผลิตปาล์มน้ำมัน รวมสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,448 ราย
“สำหรับ การดำเนินงานในปี 2553 ได้มีการจัดทำ “แผนบูรณาการ นิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน” ซึ่งเป็นกระบวนการที่หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานในระดับพื้นที่ และนิคมสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ มาบูรณาการการทำงานร่วมกัน มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมวิธีคิด องค์ความรู้และการบริหารจัดการ รวมกลุ่มผสมผสานสร้างรายได้ ลดรายจ่ายตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นายเลอพงษ์ กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มีนาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=55960
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง