องค์กรถาวรระบบสำรองข้าว รองรับวิกฤติอาหารขาดแคลน
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 53
องค์กรถาวรระบบสำรองข้าว รองรับวิกฤติอาหารขาดแคลน
นับวันภัยธรรมชาติเริ่มส่งผลทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้นานาประเทศต่างวิตกกังวลโดยเฉพาะกรณีที่ภัยพิบัติรุนแรง อาจส่งผลกระทบให้ขาดแคลนอาหารได้ในอนาคต ดังนั้น ประเทศ ในกลุ่มสมาชิกอาเซียน จึงจัดทำโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออกขึ้น เพื่อเตรียมรับมืออาหารขาดแคลนในช่วงภัยพิบัตินั่นเอง และกำลังจะขยายไปสู่การจัดตั้งเป็นองค์กรถาวรในเร็ว ๆ วันนี้
ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับหน้าที่ดูแลโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก (East Asia Emergency Rice Reserve : EAERR) ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ บวกกับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมเป็น 13 ประเทศ เพื่อศึกษากลไกระบบสำรองข้าวของประเทศอาเซียนบวกสาม ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน แก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารและความยากจน และเพิ่มเสถียรภาพราคาข้าวของประเทศสมาชิกทั้ง 13 ประเทศ โดยโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2547
ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาของการดำเนินโครงการนำร่องได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดังนั้น ประเทศสมาชิกต่างมีความเห็นพ้องต้องกันให้จัดตั้ง โครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก เป็นองค์กรถาวรภายใต้ชื่อ APTERR (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve Agreement) เพื่อให้การดำเนินงานมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดตั้งองค์กรถาวรเพื่อการสำรองข้าวฉุกเฉินของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก 4 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วย
1.ความมั่นคงทางอาหารในกรณีฉุกเฉิน
2.แก้ไขปัญหาความยากจนขาดแคลนอาหาร
3.เพิ่มเสถียรภาพราคาข้าวของภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากในการสร้างศักยภาพในการครองความเป็นผู้นำตลาดข้าวของโลก ด้วยการควบคุมดูแลระบบการซื้อ-ขาย การระบายสต๊อกข้าวของภูมิภาค และเป็นช่องทางในการระบายข้าวของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
และ 4. คือเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลด้านอาหาร โดยเฉพาะข้อมูลข้าว ส่งผลดีต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการข้าวของประเทศ ตลอดจนสามารถควบคุมกลไกระบายข้าวของอาเซียนบวกสามอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวนอกภูมิภาคเข้ามาส่งผลกระทบด้านลบต่อประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความพร้อมของการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในทางอ้อมคือ ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านการบริโภคข้าวเป็นหลักของภูมิภาคให้คงอยู่สืบต่อไปด้วย
“ในส่วนของเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการที่ราคาข้าวมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากระบบสำรองข้าว จะช่วยลดความผันผวนด้านการผลิตและราคาข้าว ส่งผลให้รายได้เพิ่มสูงขึ้นจากการพัฒนาระบบจัดเก็บและขนส่งเพื่อให้สามารถส่งออกข้าวได้ตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนดในเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งยังจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตลอดจนลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว และการผลิตข้าวที่มีคุณภาพด้วย” รมว.เกษตรฯ กล่าว
ขณะนี้องค์กรถาวรเพื่อการสำรองข้าวฉุกเฉินของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ยังอยู่ในขั้นทำข้อตกลงของประเทศสมาชิกในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการ ตลอดจนรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรถาวรฯ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานก็จะได้เห็นองค์กรถาวรข้าวออกมาเป็นรูปเป็นร่างและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 มีนาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=56678
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง