รณรงค์เลิกเผาไร่อ้อยก่อนตัด
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 53
รณรงค์เลิกเผาไร่อ้อยก่อนตัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงปริมาณอ้อยไฟไหม้ส่งโรงงานที่มีแนวโน้มสถิติเพิ่มขึ้นทุกปี ว่าในฤดูการผลิตปี 2551/52 ที่ผ่านมา มีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศสูงถึงร้อยละ 64 ความหวานเฉลี่ย 12.28 CCS. โดยในภาคตะวันออกมีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลสูงที่สุด มากถึงร้อยละ 75 และความหวานเฉลี่ย 11.88 CCS. ซึ่งเป็นระดับความหวานต่ำที่สุดของประเทศ
อย่างไรก็ตามการเผาอ้อยก่อนตัดเพื่อนำเข้าโรงงานมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการตัดอ้อยเผาเป็นที่นิยมของแรงงานตัดอ้อย เพราะมีรายได้มากกว่าการตัดอ้อยสด ซึ่งเป็นผลจากค่าจ้างตัดอ้อยคิดตามน้ำหนัก และในแต่ละวันการตัดอ้อยเผาจะตัดได้ปริมาณมากกว่า
จากปัญหาดังกล่าว หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวเพื่อป้องกันการขาดแคลน แรงงานในอนาคต และดำเนินมาตรการเร่งด่วน สร้างแรงจูงใจและรณรงค์ลดการเผาอ้อยอย่างจริงจัง โดยชี้แจงเกษตรกรชาวไร่อ้อยและแรงงานเก็บเกี่ยว ให้เข้าใจถึงผลกระทบจากการเผาอ้อย เนื่องจากการเผาอ้อยจะทำให้สูญเสียน้ำหนักและคุณภาพความหวาน ซึ่งหากตัดทิ้งไว้ในไร่นาน ๆ คุณภาพความหวานจะยิ่งลดต่ำลง และยังถูกตัดราคาตามประกาศของโรงงานและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนมาก เพราะอ้อยเผาจะมีน้ำตาลเยิ้มออกมาที่ลำอ้อย หากตัดวางสัมผัสกับพื้นดินก็จะมีเศษหิน ดิน ทราย ปนเข้ามา และเมื่อลำเลียงขึ้นรถเพื่อขนส่งจะทำให้สิ่งสกปรกติดปนเปื้อนเข้ามามากขึ้น
นอกจากนี้ การเผาอ้อย จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงและทำให้โครงสร้างของดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายดูแลรักษาเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีเศษซากอ้อยต่าง ๆ คลุมดิน เกิดวัชพืชขึ้นง่าย โตเร็ว ส่งผลต่อต้นทุนการกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้นตาม อีกทั้งการเผาจะทำให้ตออ้อยถูกทำลาย อ้อยงอกช้ากว่าปกติหรืออาจจะไม่งอกเลย การเจริญเติบโตช้า ไว้ตอไม่ได้ และไม่ทนทานต่อสภาพความแห้งแล้ง และยังทำลายแมลงที่มีประโยชน์ เช่น ตัวห้ำ-ตัวเบียน ที่ช่วยควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูถูกทำลาย เกิดการระบาดของแมลงศัตรูอ้อยได้ง่าย เช่น หนอนกอ ตลอดจนอาจส่งผลต่อตลาดน้ำตาล เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วอาจจะนำมาเป็นข้ออ้างงดซื้อน้ำตาลจากประเทศไทยได้ เนื่องจากการเผาอ้อยจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายร่วมกันให้ข้อมูลแก่เกษตรกร ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาคุณภาพของอ้อยแล้ว ยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมตอบรับกระแส ลดมลพิษ ลดโลกร้อนที่ทุกคน ทุกชาติกำลังตื่นตัวกันอยู่ในขณะนี้อีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=41459
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง