เมื่อวันที่ 1 เมษายน 53
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยสถานการณ์การผลิตไก่เนื้อว่า ปี 2552 มีการผลิตไก่เนื้อ 917.26 ล้านตัว ลดลงจาก 920.75 ล้านตัวใน ปี 2551 ร้อยละ 0.38 อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ส่วนแนวโน้มปี 2553 คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นสอดรับกับจำนวนประชากรและการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์การตลาด ด้านการส่งออกพบว่า จากปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปี 2547 ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการส่งออก จากไก่สดแช่แข็งมาเป็นไก่แปรรูป ทำให้การส่งออกของไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ โดยในปี 2552 ประเทศไทยจะสามารถส่งออกเนื้อไก่ได้รวม 379,351 ตัน คิดเป็น มูลค่า 49,038 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 1,582 ล้านบาท และส่งออกเนื้อไก่แปรรูปจำนวน 354,124 ตัน คิดเป็นมูลค่า 47,456 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นขาดความมั่นใจในคุณภาพสินค้าของจีน จึงหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น กอปรกับผลจากความตกลงหุ้นส่วน เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้ภาษีนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย ลดลงเหลือร้อยละ 5 รวมทั้งโควตาภาษีไก่แปรรูปของสหภาพยุโรปที่ไทยได้รับจำนวน 160,030 ตัน อัตราภาษีร้อยละ 8
ทั้งนี้ ในปี 2553 คาดว่าการส่งออกไก่เนื้อของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จากตลาดสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักของไทยมีการขยายตัวเกือบเต็มโควตา 160,033 ตัน ดังนั้นในปี 2553 คาดว่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ จะมีปริมาณ 400,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 53,800 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 379,351 ตัน ในปี 2552 ร้อยละ 5.44 ตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ยังคงเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดอื่นๆ รวมกัน เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ แคนาดา และ เวียดนาม
ส่วนสถานการณ์ราคา แบ่งเป็นราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2552 พบว่า ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย กิโลกรัมละ 37.45 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 37.27 บาท ของปี 2551 ร้อยละ 0.48 โดยราคาไก่เนื้อปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาอาหารสัตว์ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 - 80 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ด้านราคาส่งออก ปี 2552 ราคา ส่งออกไก่สดแช่แข็งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 61 บาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 57.58 บาท ในปี 2551 ร้อยละ 5.94 ส่วนราคาส่งออกเนื้อไก่แปรรูปในปี 2552 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 135 บาท ปรับตัวลดลงจากกิโลกรัมละ 139.66 บาท ในปี 2551 ร้อยละ 3.34 เนื่องจากมีการแข่งขันสูงจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ คือ บราซิลที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าจากการที่เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ นายอภิชาต กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 1 เมษายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=205558